รับมือเมื่อลูกมีพฤติกรรมดื้อ โวยวาย ขัดใจไม่ได้
รับมือพฤติกรรมดื้อ โวยวาย ขัดใจไม่ได้ บทความโดย แม่มิ่ง
หลาย ๆ บ้านคงเคยเจอปัญหานี้โดยเฉพาะกับเด็กเล็กก่อนวัยอนุบาลหรือวัยอนุบาลใช่ไหมคะ พฤติกรรมเหล่านี้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้คุณพ่อคุณแม่อย่างมาก โดยเฉพาะในที่สาธารณะด้วยแล้ว ลำบากใจจริง ๆ มาดูกันค่ะวิธีการแก้ไขปัญหาลูกดื้อ โวยวาย เอาแต่ใจตนเอง
ทำความเข้าใจสาเหตุการดื้อ โวยวาย ขัดใจไม่ได้
1. เด็กดื้อนั้นเกิดจากพัฒนาการทางอารมณ์ที่เป็นปกติของเด็กในบางช่วงวัยโดยเฉพาะ 1 – 2 ปี ที่กำลังซุกซน เริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และยังไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดหรือบอกมากนัก จึงทำให้เด็กมักทำตรงข้ามกับสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกเสมอ
2. การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเลี้ยงดูแบบเข้มงวดมากเกินไป ตีกรอบให้เด็กมากเกินไป ทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดใจ คับข้องใจ พลอยทำให้บอกพูดอะไร “หูทวนลม” หรือที่เรามักเรียกกันว่า “ดื้อเงียบ” และเมื่อไรก็ตามที่ถูกขัดใจ ก็พร้อมแสดงอาการก้าวร้าวออกมาทันที
3. สภาพจิตใจที่มีภาวะบกพร่อง หรือมีเรื่องราวกระทบกระเทือนจิตใจ ทำให้หวาดระแวง ไม่เข้าใจพ่อแม่ โดยเฉพาะในช่วงที่แม่กำลังจะมีน้องอีกคน มักทำให้เด็กคิดว่าตนเองจะถูกแย่งความรัก เป็นต้น
เมื่อเราทราบถึงแนวทางของปัญหาแล้ว ทีนี้มาแก้ปัญหากันค่ะ
รับมือพฤติกรรมดื้อ โวยวาย ขัดใจไม่ได้
1. ไม่โมโหหรือทำโทษลูกด้วยวิธีรุนแรง แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะโกรธลูกแค่ไหนก็ตาม ต้องควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้ ยิ่งเราโมโหใส่ลูก ลงโทษด้วยการดุว่าหรือตี แทนที่ลูกจะเปลี่ยนพฤติกรรมจะเท่ากับคุณพ่อคุณแม่กำลังสอนลูกทางอ้อมให้ใช้ความรุนแรงทั้งทางกายและทางวาจาเมื่อรู้สึกโกรธ สิ่งสำคัญต้องควบคุมตนเองและอารมณ์เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับลูก วิธีการ เช่น ลูกเล่นกับเพื่อนแล้วทะเลาะกัน คุณพ่อคุณแม่ต้องควบคุมอารมณ์และแยกลูกออกมาอย่างสงบ พยายามทำเช่นเดิมแบบนี้ทุกครั้งทีเกิดปัญหาเดิมอีก ต่อไปลูกจะเข้าได้ทันทีว่า หากมีพฤติกรรมเช่นนี้อีกเขาจะถูกสั่งห้ามไม่ให้เล่น และอดสนุกที่จะได้เล่นกับเพื่อน ๆ ต่อ
2. เมื่อลูกอารมณ์สงบลงแล้ว หาเวลาคุยกับลูกแบบส่วนตัว ไม่ควรรอนานเกินไปจนข้ามวันค่อยคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างน้อยภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุ ให้ถามลูกว่า อะไรที่ทำให้ลูกโกรธ เช่น “เมื่อกี้ที่ลูกผลักเพื่อน เกิดอะไรขึ้น ลูกเล่าให้แม่ฟังได้ไหมว่าเกิดอะไร” คุณแม่ควรอธิบายอารมณ์ให้ลูกเข้าใจว่า อารมณ์โกรธเป็นเรื่องปกติของทุกคน แต่เราจะใช้อารมณ์โกรธไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้ และคุณแม่ควรแนะนำทางออกของปัญหาให้ลูกด้วย เช่น “แม่เข้าใจนะว่าลูกโกรธ แต่เราจะเอาความโกรธของเราไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะครับ” แต่ให้เราพูดออกไปเลยว่าเพื่อนทำแบบนี้ เราไม่ชอบนะที่นายมาแย่งเราก่อน เพื่อนจะได้เข้าใจและไม่ทำอีก โดยที่ลูกจะได้ไม่ไปต้องไปผลักเพื่อน
3. ควรให้ลูกรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำลงไป เช่น หากลูกพูดแรง ๆ ออกไป หรือทำอะไรแรง ๆ ลงไป จนคนอื่นเสียใจ เราควรไปขอโทษเพื่อนก่อนที่จะเล่นกันต่อไป แม้ว่าครั้งแรกลูกอาจจะขอโทษแบบขอไปทีหรือไม่จริงใจ แต่เมื่อลูกทำไปเรื่อย ๆ ลูกจะเข้าใจมากขึ้นและจะทำได้โดยไม่รู้สึกความลูกตะขิดตะขวงใจ หรือถ้าลูกโกรธแล้วขว้างปาข้าวของจนแตกเสียหายหรือเลอะเทอะ ลูกต้องเก็บของของเขาให้เรียบร้อย ทั้งนี้ลูกจะรู้ว่านี่ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการรับผิดชอบผลจากการกระทำของเขาเอง
4. ลองสังเกตว่าลูกอยู่หน้าจอมือถือหรือทีวีมากไปหรือเปล่า เพราะบางครั้งการ์ตูนที่เราว่าน่ารักน่าเอ็นดูนั้นจะเต็มไปด้วยพฤติกรรมรุนแรง การตะโกน การขู่ การตี การทำร้ายแรง ๆ ซึ่งเด็ก ๆ ไม่เข้าใจพฤติกรรมเช่นนั้น เผลอทำตามและกลายเป็นเด็กก้าวร้าวโดยที่ไม่ตั้งใจ ดังนั้น ควรให้เด็กอยู่หน้าจอเพียงวันละไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง/วัน เท่านั้นและมีผู้ใหญ่คอยกำกับดูแล
5. สิ่งสำคัญที่สุด การฝึกวินัยให้ลูกควรเป็นแบบเชิงบวก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้วิธีรุนแรง ไม่ว่าจะทางกายและคำพูด สำคัญที่สุด อย่าเผลอสติแตกเองนะคะ ต้องควบคุมตนเองให้สงบ อดทนและมีสติอยู่เสมอ ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมของเราในท้ายที่สุด
เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นเด็กดื้อ จอมโวยวาย เอาแต่ใจ
1. คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจธรรมชาติของช่วงวัย เพราะเด็กแต่ละวัยจะมีพฤติกรรมและพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจที่แตกต่างกันออกไป
2. ไม่แนะนำให้ใช้วิธีการรุนแรงโดยเฉพาะ “การตี” การตีอาจมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ไม่มีประโยชน์ในกรณีเด็กดื้อ โวยวาย อีกทั้งยังสร้างผลเสียด้านพฤติกรรมรุนแรงให้เด็กมากกว่า
3. ไม่เปรียบเทียบลูกของเรากับลูกบ้านอื่น หรือแม้แต่พี่น้องด้วยกันเอง เพราะเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานทางอารมณ์ จิตใจ นิสัยที่แตกต่างกันส่วนสำคัญมาจากการเลี้ยงดู ดังนั้น อยากให้ลูกเป็นเช่นไร เราต้องเลี้ยงเขาเช่นนั้น อยากให้ลูกใจเย็น เราต้องใจเย็นให้ลูกเห็น อยากให้ลูกพูดเพราะ เราต้องพูดเพราะกับลูก เพราะการกระทำของพ่อแม่ชัดเจนกว่าคำพูด
4. เวลาคุณภาพที่ขาดไม่ได้และสำคัญที่สุด สอนไปเท่าไรก็ตามแต่ไม่มีเวลาดูแลลูกก็ไม่เกิดประโยชน์ เด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน อย่างน้อยกลับมาบ้านควรมีเวลาให้ลูกอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมงที่จะดูแลใส่ใจ พูดคุย เล่นกับลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและรู้ว่าตนเองยังเป็นคนสำคัญ เป็นที่รักของพ่อแม่เสมอ
5. ปล่อยให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ อย่างอิสระบ้าง หยุด ห้าม อย่า ไม่ ใช้ให้น้อยลง เพราะเด็กต้องใช้พลังในร่างกายลงมือทำ ลงมือเล่นเพื่อเรียนรู้เรื่องราวรอบตัว การได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ได้วิ่งเล่นสนุกสนาน ช่วยปลดปล่อยพลังส่วนเกินที่สะสมให้ร่างกายให้ออกมา
พ่อแม่คือแบบอย่างการกระทำของลูก ไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้น การควบคุมอารมณ์ ต้องระวังคำพูดและความคิดของเราให้ดีก่อน ลูกจะเลียนแบบการกระทำของเราได้ไม่ยาก
#พฤติกรรมดื้อก้าวร้าว #แก้ไขเด็กดื้อ #NetPAMA