window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

6 วิธีในการสอนลูกให้มีความซื่อสัตย์

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กๆ หลายคนกำลังเผชิญการโกหกเล็กๆ น้อยๆ ไปถึงการโกหกเรื่องใหญ่ และการแสดงออกถึงความซื่อสัตย์ของลูกหลานตัวเอง จนเกิดความวิตกกังวลว่าความไม่ซื่อสัตย์เหล่านี้จะทำให้เด็กมีแนวโน้มในการโกหกบ่อยครั้งขึ้นหรือไม่ การโกหกจะกระทบพัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคมของเด็กอย่างไร
         
บทความนี้จะนำพ่อแม่และผู้ปกครองทั้งหลายไปสำรวจว่าด้วยการโกหกและความซื่อสัตย์ของเด็ก การนำเสนอแนวทางการขัดเกลาลูกในการเรียนรู้ที่จะซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงแนวทางปรับปรุงพฤติกรรมของพวกเขาให้มีความซื่อสัตย์กับเปิดใจพูดคุยความจริงกับพ่อแม่มากยิ่งขึ้น เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมการซื่อสัตย์ของลูกให้เบ่งบาน         

การโกหก (Lying)
เป็นรูปแบบหนึ่งของการ “หลอก” ผู้อื่นด้วยคำพูด และเป็นพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ในการตอบสนองต่อการสื่อสารกับผู้อื่น มนุษย์เรามีการโกหกอย่างสม่ำเสมอและสั่งสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน การโกหกนั้นในบางครั้งอาจเป็นไปเพื่อปกปิดความจริง ความหวาดกลัวที่จะพูดความจริงบางประการของตนเอง หรือเพื่อหลีกหนีความจริงและความรับผิดชอบบางอย่าง เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการโกหกในวัยเด็กและวัยรุ่นเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่พบเจอได้ทั่วไป หากแต่การโกหกของเด็กและวัยรุ่นนั้นอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของพวกเขาที่ก่อรูปอุปนิสัยและความคิด และสร้างผลกระทบเรื่องความซื่อสัตย์ในระยะยาว กระนั้นเอง การโกหกของเด็กมีที่มาที่ไปและเหตุผลที่ผู้ปกครองและพ่อแม่ควรทำความเข้าใจ หลายครั้งการโกหกไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล พวกเขายอมเลือกที่จะโกหกเพื่อตอบสนองต่ออะไรบางประการ การทำความเข้าใจถึงสาเหตุในการโกหกของเด็กนั้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้ปกครองจำเป็นต้องค้นหาสาเหตุของการโกหกเพื่อทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาให้กลับมาซื่อสัตย์ และกล้าพูดคุยความจริงอย่างตรงไปตรงมากับผู้อื่น

6 วิธีในการสอนลูกให้มีความซื่อสัตย์

การสอนเด็กให้มีความมีความซื่อสัตย์ รวมถึงวิธีการรับมือและจัดการกับพฤติกรรมการโกหกของเด็กทั้งสิ้น 6 วิธี เพื่อให้พ่อแม่ทั้งหลายสามารถขัดเกลาความซื่อสัตย์ของลูกให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และคลายความกังวลกับพฤติกรรมการโกหกของเด็กๆ ด้วยความเข้าใจ


1. การสร้างตัวแบบหรือแบบอย่างความซื่อสัตย์ให้แก่ลูก

พ่อแม่เป็นหนึ่งในต้นแบบและตัวแบบที่สำคัญในการสอนพฤติกรรมการแสดงออกถึงความซื่อสัตย์แก่ลูก เด็กจะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่ไม่ควรโกหกให้ลูกเห็นและได้ยิน ควรสอนให้เขาพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา และไม่โกหกลูก รวมถึงการรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับลูก จะทำให้เด็กซึมซับและเรียนรู้พฤติกรรมความซื่อสัตย์จากต้นแบบของเขา รับรู้ว่าพ่อแม่ของเขาพูดและแสดงความซื่อสัตย์ออกมาเสมอ นอกจากนี้ พ่อแม่ควรอธิบายเมื่อเด็กมีคำถามหรืออธิบายสถานการณ์ต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา โดยรักษาคำตอบให้เหมาะกับพัฒนาการการเรียนรู้ของวัยเด็กหรือวัยรุ่นด้วย

 2. สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะซื่อสัตย์ให้กับลูก

กระบวนการเรียนรู้อาจจะเป็นในรูปแบบของสื่อบันเทิงละคร การ์ตูน เพลง หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสื่อบันเทิงและสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะช่วยขัดเกลาทางสังคมให้เด็กเรียนรู้ในทางอ้อม ทว่าผู้ปกครองควรเลือกประเภทของสื่อที่เหมาะสมกับช่วงวัย และมีการสอดแทรกเนื้อหาการสอนในเรื่องความซื่อสัตย์ การโกหก และผลที่ตามมาจากการโกหก เพื่อให้เด็กได้นำเข้าความรู้และเกิดการเรียนรู้ ทบทวนกับตนเองถึงพฤติกรรมการโกหกที่สร้างผลกระทบต่อเขาและผู้อื่นอย่างไร

3. สร้างบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความซื่อสัตย์กับลูก

พ่อแม่ควรเปิดโอกาสในการชวนลูกพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถกเถียงกันในเรื่องความซื่อสัตย์และการโกหกผ่านจำลองสถานการณ์สมมติขึ้นมาให้ลูกได้คิดและหาวิธีแก้ปัญหาความซื่อสัตย์ในสถานการณ์ที่เหมาะสม จะทำให้มองเห็นมุมมองของลูกในแง่มุมต่างๆ ที่พ่อแม่ไม่คาดคิด และสามารถทำความเข้าใจความคิดของลูกด้วย ในขณะเดียวกันลูกก็ได้ทำความเข้าใจความคิดและการสอนของพ่อแม่อีกด้วย การเปิดพื้นที่ให้ลูกได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนทำให้ลูกเปิดใจในการพูดคุยกับพ่อแม่อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น อย่างน้อยที่สุดคือลูกได้รับรู้ว่าพวกเขามีเรื่องอะไรภายในใจก็สามารถบอกเล่ากับพ่อแม่ของตนเองได้ ลดการพูดโกหก มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และพฤติกรรมโกหกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งกับพ่อแม่และบุคคลอื่นๆ ได้

4. การรับมือกับพฤติกรรมโกหกของลูก

การรับมือกับการโกหกของลูกนั้น Mary Alice Silverman นักจิตวิทยาคลินิกในดีซีอธิบายว่า ลำดับแรกพ่อแม่ควรจัดการกับอารมณ์และความวิตกกังวลของตัวเองก่อน โดยรักษาความสงบและความใจเย็นของตัวเองไว้ ไม่รีบติเตียนว่ากล่าวหรือแสดงอารมณ์รุนแรงต่อลูก แม้ว่าเข้าจะกำลังโกหกก็ตาม เพราะจะทำให้เด็กหวาดกลัวและหลีกเลี่ยงที่จะพูดความจริงกับพ่อแม่มากยิ่งขึ้น พ่อแม่ควรลดท่าทีการแสดงออกถึงความโกรธลง แต่อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรตักเตือนเด็กว่าการโกหกเป็นเรื่องที่ผิดต่อผู้อื่นอย่างไร ทั้งทำลายความไว้วางใจ ทำร้ายความรู้สึกผู้อื่น และทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ โดยตักเตือนด้วยท่าทางและน้ำเสียงที่ชวนให้เด็กรู้สึกไม่กดดันตัวเองและหวาดกลัวที่จะถูกทำโทษ


ทั้งนี้ ระดับการลงโทษต่อความไม่ซื่อสัตย์ของลูกควรจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความผิด ความร้ายแรงของการโกหก จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่าเขาทำผิดในระดับใดและต้องปรับปรุงตัวเอง หากการลงโทษเป็นไปอย่างรุนแรงจะยิ่งสร้างความรู้สึกต่อต้านในการพูดความจริงกับพ่อแม่ ที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ห้ามใช้ถ้อยคำที่ตีตราเด็ก อาทิ “เด็กเลี้ยงแกะ” “เด็กขี้โกหก” “จอมหลอกลวง” ซึ่งการแปะป้ายเด็กด้วยถ้อยคำเช่นนี้จะยิ่งสร้างความเข้าใจตนเองของลูก ซึมซับตามการตีตราแปะป้ายเขา และต่อต้านการพูดความจริงในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย

5. ชื่นชมเมื่อลูกแสดงออกถึงความซื่อสัตย์

พ่อแม่ควรชื่นชมเขาด้วยความจริงใจ และแสดงออกว่ามีความสุข เพื่อให้เขารับรู้ว่าการที่เขาซื่อสัตย์นั้นจะทำให้คนเขารักมีความสุข ความพึงพอใจ และได้รับรางวัลจากการเป็นคนซื่อสัตย์จากผู้อื่น และเมื่อเกิดการโกหกขึ้น ในภายหลังจะทำให้เขากล้ายอมรับการโกหกและยอมรับความจริง รวมถึงความซื่อสัตย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

6. สร้างสมดุลในสถานการณ์ทางสังคมที่ลูกจำเป็นต้องโกหก

ในหลายสถานการณ์ที่อยู่ในสภาวะอิหลักอิเหลื่อ ดูเหมือนว่าการพูดโกหกออกไปบ้างจะทำให้ช่วยรักษาน้ำใจ ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้อื่น การโกหกในบางครั้งจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดอย่างชัดเจน แต่พ่อแม่ควรสอนลูกเรียนรู้ที่จะมีไหวพริบในการเข้าสังคมและรักษาสมดุลการพูดความจริงด้วยแต่ยังคงไว้ซึ่งรักษาความรู้สึกของคนอื่นในขณะเดียวกันก็สอนให้ลูกรู้ว่าการโกหกในกรณีแบบนี้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและพวกเขาต้องชดใช้ความผิดนี้ต่อผู้อื่นด้วย

อาจกล่าวได้ว่าการสอนลูกให้มีความซื่อสัตย์ถือเป็นการบ้านที่พ่อแม่และผู้ปกครองควรให้ความสำคัญอย่างมาก และถือเป็นงานยากงานหนึ่งที่เหล่าพ่อแม่อาจจะต้องใช้ความทุ่มเทอย่างยิ่งเพื่อจะขัดเกลาให้ลูกเป็นเด็กซื่อสัตย์ ไม่โกหก ยอมเปิดใจในการพูดความจริงกับพ่อแม่และคนอื่น ๆ และนำพัฒนาการทางสังคมด้านความซื่อสัตย์ไปสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้อย่างราบรื่น และมีไหวพริบในการรับมือที่จะมีความซื่อสัตย์กับสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในบางครั้งการโกหกของลูกอาจทำให้พ่อแม่ไม่พอใจหรือโกรธ ทำให้ต้องการจัดการอารมณ์และการแสดงออกของพ่อแม่ต่อลูกอยู่ในระดับที่เหมาะสมและทำให้ลูกกล้าที่จะยอมรับความจริงแทน เรียนรู้ในการซื่อสัตย์ต่อไปในอนาคต

เขียนและเรียบเรียงโดย นางสาวณัฐญา แท่นทิพย์
ภาพถ่ายโดย August de Richelieu จาก Pexels

References

Farisha ATP, Sakkeel KP.  Psychology of lying. IJIP 2015;2:45-51.

Fagell PL. Eight ways parents can teach teens to be honest [Internet]. 2017 [cited 2022 Mar 7]. Available from: https://www.washingtonpost.com/news/parenting/wp/2017/05/09/8-ways-parents-can-teach-teens-to-be-honest/

All Pro Dad. 10 Ways to teach your children to be honest [Internet]. [cited 2022 Mar 7]. Available from: https://www.allprodad.com/10-ways-to-teach-your-children-to-be-honest/

Wits End Parenting. How to teach kids to be honest without being hurtful [Internet]. 2021 [cited 2022 Mar 7]. Available from: https://www.wikihow.mom/Teach-Kids-to-Be-Honest-Without-Being-Hurtful

Ferreira C. 12 tips for raising truthful kids [Internet]. 2016 [Cited 2022 Mar 7]. Available from:  https://www.greatschools.org/gk/articles/12-tips-raising-truthful-kids/

VanClay M. The honest child: how to teach honesty (ages 6 to 8) [Internet]. 2019 [cited 2022 Mar 7]. Available from: https://www.babycenter.com/child/parenting-strategies/the-honest-child-how-to-teach-honesty-ages-6-to-8_67924

Haymarket Children’s Academy. Teaching kids about honesty [Internet]. 2019 [cited 2022 Mar 7]. Available from: https://haymarketca.com/teach-kids-about-honesty/



หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa