window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

พ่อแม่คิดเห็นอย่างไร ? เมื่อลูกเป็นแฟนคลับศิลปิน

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ถ้าพูดถึงกระแสที่กำลังมาแรงในปี 2022 สิ่งนึงที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือความนิยมของเหล่าศิลปินยุคใหม่ในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ ไปจนถึงนักร้องหลากหลายแนวทั้งแบบวงและศิลปินเดี่ยว นอกจากนี้ปี 2022 ยังเป็นปีที่ศิลปิน T-POP กลับมาทวงบัลลังก์ ด้วยการทะยานขึ้นมาครองพื้นที่ในชาร์ตเพลงกันอย่างล้นหลาม ดังนั้นในเมื่อกระแสทางฝั่งศิลปินนั้นมาแรงขนาดนี้ การกลับมาของ “วัฒนธรรมแฟนคลับ” ก็ย่อมกลับมาเป็นที่นิยมเช่นกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดของความหลากหลายของกลุ่มแฟนคลับนั้นเพิ่มขึ้นมาก ทั้งเพศ ภาษา และอายุ เด็กที่มีอายุน้อยเริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มแฟนคลับกันมากขึ้น เนื่องจากการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ง่ายและสะดวกสบายกว่าเมื่อก่อน จนเรียกได้ว่าในยุคนี้นั้น “ไม่ว่าใครก็เป็นแฟนคลับศิลปินได้”


แต่ถึงแม้ว่ากระแสของวัฒนธรรมแฟนคลับจะเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นขนาดไหน ความแตกต่างของช่วงวัยก็ยังอาจเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจความชื่นชอบของกันและกันได้ ทางเราจะได้ลองสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นแฟนคลับศิลปินว่าพวกเขานั้นมีความคิดเห็นอย่างไรกับความชื่นชอบแบบนี้ของลูก


คุณแม่วัย 53 ท่านหนึ่ง ที่มีลูกชายวัย 21 ปี เป็นแฟนคลับนักแสดงซีรีส์และศิลปิน T-POP ได้เล่าให้เราฟังว่า


“เห็นลูกเป็นแฟนคลับศิลปินมาตั้งแต่ม.ปลายแล้ว โดยส่วนตัวก็เคยเห็นศิลปินที่ลูกชอบผ่านตามาบ้างเพราะลูกก็เอามาให้เราดู แต่ก็ยังไม่ได้จดจำหรืออินตามลูกขนาดนั้นเพราะเรากับลูกก็เปิดคนละยุค ฟังเพลงคนละแนวเลย”


เมื่อเราลองถามว่าคุณแม่เคยไม่พอใจอะไรเกี่ยวกับการเป็นแฟนคลับศิลปินของลูกบ้าง


“แรก ๆ เราก็รับไม่ค่อยได้ เพราะเรารู้สึกว่าลูกเราจะคลั่งไคล้มากเกินไป เรากังวลว่ามันจะกระทบการเรียน สิ้นเปลืองเงิน และกระทบสุขภาพ ลูกยังเรียนอยู่และได้รับเงินค่อนข้างจำกัดจากที่บ้าน พอเขาอยากได้เงินไปใช้ซัพอร์ตศิลปินเขาก็ต้องไปทำงานพิเศษเพื่อหาเงินมาเปย์เพิ่ม แม่กลัวว่าเขาจะหักโหมเกินไปค่ะ”


แล้วในทางบวกล่ะครับ เราคิดว่าลูกได้อะไรจากการเป็นแฟนคลับบ้าง


“อย่างแรกที่แม่เห็นคือเขาทำงานหาเงินเองได้ ลูกเป็นแฟนคลับ แล้วลูกก็ทำงานเกี่ยวกับศิลปินที่เขาชอบไปด้วย เขาไปฝึกทำ graphic design เขาหัดเขียน content เขาจัด mini gallery ให้ศิลปินที่เขาชอบ เขาบอกแม่เสมอว่าแม่ไม่ต้องเป็นห่วงที่เขาเป็นแฟนคลับ เพราะศิลปินของเขาทำให้เขารู้ว่าตัวเขาชอบอะไรและทำอะไรได้ เขาอยากทำงานเบื้องหลังด้านนี้ ทุกวันนี้เขาก็เลือกเรียนต่อทางด้านภาพยนตร์และภาพถ่าย แม่เห็นเขารู้จักตัวเองและมีความสุขแม่ก็ดีใจค่ะ”


จากการพูดคุยกันก็จะเห็นได้ว่าผู้ปกครองนั้นสามารถมีทั้งความกังวลและความภูมิใจในตัวลูกได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งมันเป็นความรู้สึกพื้นฐานมาก ๆ ที่ผู้ปกครองมักจะมี เราได้ลองไปสัมภาษณ์เพิ่มเติมในกลุ่มผู้ปกครองที่มีลูกวัยมัธยม คุณพ่อวัย 39 ปี มีลูกสาววัย 16 ปีเป็นแฟนคลับนักร้อง


“เห็นลูกเป็นแฟนคลับศิลปินมาตั้งแต่ม.ต้นก็ 4-5 ปีแล้ว ลูกก็เคยเอาเรื่องศิลปินที่ชอบมาเล่าให้ฟังบ้าง แต่เราไม่ได้อิน เพราะความชอบแนวเพลงเราต่างกัน เรื่องการใช้จ่ายเงินของลูกเขาก็เล่าให้เราฟัง แต่เราก็ยังมีความกังวลในเรื่องที่เขาเป็นแฟนคลับ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เช่น การเดินทางไปหาศิลปินตามงาน หรือการพบเจอเพื่อนใหม่ ๆ ในกลุ่มแฟนคลับที่เพิ่งจะรู้จักกัน”


เมื่อเราถามว่าหากมีโอกาสคุณพ่อจะซัพพอร์ตการเป็นแฟนคลับของลูกไหม คุณพ่อให้คำตอบว่า


“เราก็ซัพพอร์ตการเงิน ที่ลูกใช้ซื้อของหรือใช้เป็นค่าเดินทาง”


แล้วสิ่งที่คุณพ่ออยากจะสอนหรือเตือนลูกล่ะ มีอะไรบ้าง ?


“อยากจะบอกให้ตามศิลปินแบบพอดีไม่ทุ่มเทหรือให้ความสำคัญมากจนเกินไป แบ่งเวลาให้ดี ๆ ไม่กระทบกับครอบครัว งาน การเรียน”


เห็นได้ชัดว่าผู้ปกครองจะเป็นกังวลกับเรื่องการเงิน และการเรียนของลูกเป็นหลัก แต่ในด้านของการซัพพอร์ตนั้น การเงิน และการเรียนก็เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองช่วยซัพพอร์ตได้ดีที่สุดเช่นกัน  ซึ่งหากผู้ปกครองมีความเข้าใจ และใส่ใจที่จะช่วยดูแลลูกในเรื่องเหล่านี้ก็จะช่วยลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นไปได้มาก


อีกข้อสังเกตที่เราพบคือผู้ปกครองส่วนมากจะเรียกการเป็นแฟนคลับศิลปินว่าคือ “งานอดิเรก” ในทางกลับกันตัวลูก ๆ หลายคนที่เป็นแฟนคลับศิลปินแบบคลั่งไคล้จะมองว่ามันเป็น “ไลฟ์สไตล์” มากกว่า หลาย ๆ คนเลือกที่จะมองหาจุดลงตัวของชีวิตจากการเป็นแฟนคลับศิลปิน หลายคนมองหาความฝันและอนาคตที่จะได้ทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่กับวงการที่พวกเขารัก และมองว่าการเป็นแฟนคลับไม่ใช่แค่กระแสนิยม หรืองานอดิเรกยามว่าง แต่มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา เพราะแฟนคลับและศิลปินต่างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกันและกัน


คนสุดท้ายเราได้ลองสัมภาษณ์คุณพ่อวัย 54 ปีท่านหนึ่งที่มีลูกสาววัยทำงานแล้ว (24 ปี) เป็นแฟนคลับศิลปินไทยและเกาหลี


“ลูกเป็นแฟนคลับมาตั้งแต่สมัยมัธยมต้น เราก็เห็นมาตลอดแต่เราไม่ได้อินตาม ปกติลูกก็จะเล่าให้ฟังเรื่องการติ่งว่าไปเจอใคร เป็นยังไงบ้าง บางทีเราก็ช่วยไปรับไปส่งลูกเพราะเราเป็นห่วง เราไม่เคยไม่พอใจนะที่ลูกเป็นแฟนคลับ เพราะลูกรู้ขอบเขตของตัวเอง”


เราได้รับคำพูดที่น่าสนใจจากคุณพ่อว่าความชอบส่วนตัวของคุณพ่อและลูกสาวที่ไม่ได้เหมือนกันนั้น


“ไม่แตกต่างเท่าไหร่ เพราะตัวเองก็มีสิ่งที่ชอบเหมือนกัน”


ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณพ่อยอมรับความแตกต่างระหว่างความชอบส่วนบุคคลว่ามันคือความเหมือนกันอย่างหนึ่งของคนเรา เราทุกคนต่างมีความชอบเป็นของตัวเอง คุณพ่อยังเสริมกับเราอีกว่า


“การเป็นแฟนคลับศิลปินทำให้ลูกดูสดใสมากขึ้น เพราะลูกเป็นคนจริงจังกับชีวิตมาก จะเห็นเค้าผ่อนคลายก็ตอนได้ไปเจอศิลปินตามงาน”


จากการสัมภาษณ์ทั้งหมดทำให้เรามองเห็นว่า ผู้ปกครองส่วนมากนั้นล้วนมีความกังวล และขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังในตัวลูกอยู่สูง ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดอะไร และการที่พ่อแม่จะไม่ได้อินตามหรือเข้าอกเข้าใจความชอบของลูกไปซะหมดมันก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก แต่ถึงอย่างนั้นการเปิดใจยอมรับความแตกต่าง และมองหาจุดตรงกลางที่เหมาะสมร่วมกันก็ย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะปลายทางที่เราทุกคนต้องการก็เป็นแค่เพียงการหาความสุขในชีวิตจากสิ่งที่เรารักเท่านั้น ดังนั้น ขอให้ผู้ปกครองและลูก ๆ ลองเปิดใจคุยกัน และซัพพอร์ตคนที่พวกเรารักไปด้วยกันอย่างมีความสุขนะครับ

.

เขียนและเรียบเรียง : สิรวิชญ์ ไทยทวีไพศาล

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa