รู้หรือไม่ เด็กเล็กๆก็เป็นโรคซึมเศร้าได้
“รู้หรือไม่ เด็กเล็กๆ ก็เป็นโรคซึมเศร้าได้”
ทุกวันนี้ในสังคมของเรามีความตระหนักรู้เรื่องโรคซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนส่วนใหญ่ก็อาจนึกภาพถึงผู้ป่วยที่เป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่
แต่รู้หรือไม่ ในเด็กเล็กๆ ก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกันนะคะ
“เด็กเล็กๆ จะมีเรื่องอะไรให้เครียดจนเป็นโรคซึมเศร้าได้”
ที่จริงแล้ว วัยไหนก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่ะ ไม่ว่าจะเด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สัมพันธ์กับทั้งปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ และสังคม ในส่วนของปัจจัยทางชีวภาพสามารถอธิบายได้ด้วยความผิดปกติของสารเคมีในสมอง
ส่วนเรื่องของปัญหาทางด้านจิตใจและสังคม แต่ละช่วงวัยก็ต่างมีความเครียดในเรื่องนี้แตกต่างกันไป
ในหลายครั้ง ปัญหาด้านนี้ของเด็กๆอาจถูกผู้ใหญ่มองข้าม เพราะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน การถูกเปรียบเทียบ ปัญหาภายในครอบครัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเด็กที่มีโรคทางจิตเวชอยู่เดิม เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (SLD) เด็กกลุ่มนี้มักไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม จนทำให้เด็กรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตนเอง
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เด็กเกิดมุมมองในทางลบเกี่ยวกับตนเอง โลก และอนาคต ย่อมสะสมจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ทั้งสิ้น
“แล้วจะรู้ได้ยังไง ว่าลูกเริ่มมีอาการซึมเศร้า”
อาการแสดงของโรคซึมเศร้าในเด็กเล็กๆ จะไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนผู้ใหญ่
การสังเกตอาการโรคซึมเศร้าจึงต้องคำนึงถึงอายุและพัฒนาการของเด็กด้วยเสมอ เนื่องจากเด็กเล็กๆยังไม่สามารถบอกความรู้สึกตัวเองได้ หลายครั้งจึงไม่ได้แสดงอาการซึมเศร้าอย่างชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ แต่เด็กๆ อาจแสดงพฤติกรรมต่อไปนี้แทนได้ค่ะ
- พฤติกรรมถดถอย
- เก็บตัวมากขึ้น แยกตัว
- เหงาหงอย ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม
- ไม่ชอบเล่นในสิ่งที่เคยชอบ
- ขาดสมาธิ
- ดื้อ เถียง ต่อต้าน
- หงุดหงิดง่าย ร้องงอแง
- ก้าวร้าวมากขึ้น
- ผลการเรียนตกลง
หรืออาจจะมาด้วยอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว อาเจียนคลื่นไส้ ทานอาหารลดลง นอนไม่หลับ ก็ได้ค่ะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าควรทำโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจเป็นซึมเศร้า จึงควรพาไปพบจิตแพทย์โดยเร็วค่ะ
เขียนและเรียบเรียง : รินรดา คงพิบูลย์กิจ