window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กจริงๆทำได้ไม่ยาก

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
 
#สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กจริงๆทำได้ไม่ยาก
 
หมออยากให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองไม่กี่คำถามค่ะ
 
สมมติว่าให้เลือกที่จะอยู่กับใครสักคน เราจะเลือกอยู่กับใคร ระหว่าง คนที่เราอยู่ด้วยแล้วรู้สึกดีๆ คนที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึกอึดอัด/ไม่สบายใจ
 
ต่อมาลองถามใจเราว่า เราอยากให้เจ้านายของเราเป็นแบบไหน และ เจ้านายแบบไหนที่เราไม่ชอบ  
 
เราไม่ชอบเจ้านายที่เอาแต่บ่นว่า จับผิด ไม่รับฟัง
 
เด็กๆก็คงไม่ต่างกันเท่าไหร่ อยากให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด เป็นอย่างที่เราอยากให้เจ้านายของเราเป็น
 
.
 
ที่หมอเริ่มต้นด้วยคำถาม เพราะว่า สัมพันธภาพที่ดี ต้องเริ่มจากการเข้าใจในความรู้สึก การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องมีความละเอียดอ่อนในการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะกับเด็กๆ
 
"เรื่องของความรู้สึก" เป็นสิ่งที่ต้องรับรู้ด้วยใจ
 
บางครั้ง เด็กอาจจะแสดงออกด้วย พฤติกรรม คำพูด ที่ไม่น่ารัก แต่ลึกๆ เด็กกำลังเศร้า ไม่สบายใจ
 
ดังนั้น ถ้าผู้ใหญ่ทำให้เด็ก "เปิดใจ" ไม่ได้ เด็กจะไม่มีวันบอกสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจ
 
เป็นที่น่าโชคดี ที่จากงานวิจัยพบว่า ถึงแม้ว่าเด็กจะมีพฤติกรรมที่แย่ขนาดไหน เวลาที่เขามีปัญหา คนที่เด็กคิดถึงเป็นคนแรก ว่าอยากจะปรึกษาปัญหาด้วย คือ แม่ รองลงมาคือ พ่อ และ ผู้ปกครองอื่นๆที่ไม่ใช่พ่อ/แม่ ดังนั้น ข้อมูลนี้เป็นจุดบวก ว่าจะยังไงก็ตาม ลึกๆแล้วคนที่เด็กๆคิดถึงและอยากจะพึ่งพาก็คือ พ่อแม่  
 
 
แต่บางครั้ง เมื่อพูดออกไป ผลลัพธ์กลับไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง และทำให้ยิ่งรู้สึกแย่ ทำให้เด็กๆเลือกที่จะไม่เล่า หรือพูดให้พ่อแม่ฟัง
 
ถ้าพ่อแม่มีสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก เด็กก็พร้อมที่จะเล่าเรื่องต่างๆในใจให้ฟังอยู่แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะปลดล็อคได้เกือบทุกอย่าง นั่นคือ "สัมพันธภาพที่ดี"
 
แล้วจะสร้างให้เกิดขึ้นอย่างไร...
 
1. สัมพันธภาพที่ดี คือ ความไว้วางใจ เชื่อถือ รู้สึกดีๆเมื่ออยู่ด้วย ต้องใช้เวลาในการสร้าง คือ ต้องทำตั้งแต่เด็กยังเป็นเด็กเล็กๆ จึงจะได้ผลดี และง่ายกว่าการสร้างสัมพันธภาพเมื่อเด็กโตแล้ว ยิ่งเป็นวัยรุ่น ยิ่งยาก
 
2. การสร้างสัมพันธภาพที่ดี ต้องอาศัยความอดทนและเวลา ไม่ใช่จะสร้างภายในวันสองวัน
 
3. ต้องให้ความรัก ความเข้าใจ ให้เวลาที่มีคุณภาพ แต่ก็ไม่ใช่ว่าตามใจไปหมด ต้องให้ความรักควบคู่ไปกับการให้เด็กเรียนรู้ระเบียบวินัย อย่างมีเหตุผล (โดยมีพื้นฐานของความรักและห่วงใยอย่างจริงใจ)
 
4. เมื่อมีพระคุณ พระเดชจะตามมาเอง: สัมพันธภาพที่ดีต้องมาจากความรักเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่ความกลัว ให้มีความรักเป็นพื้นฐานก่อน เมื่อเด็กมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ใหญ่ แล้วความเคารพและเกรงใจจะตามมา  
 
5. เวลาที่เด็กทำผิด ให้เขาเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ แต่อย่าใช้คำพูดที่ตีตรา ประชดประชัน เปรียบเทียบ หรือการลงโทษทางร่างกายที่รุนแรงเกินไป (ที่จะทำให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกดูถูก รู้สึกอับอาย หรือทำให้เด็กกลัวอย่างมาก --> จะทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ไม่ดี เวลาทำผิดจะมีแนวโน้มพยายามปกปิด เพราะกลัวผลที่ตามมาอย่างมาก)
 
6. การรับฟัง: สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย พอจะพูดคุยกันเข้าใจ การจะสร้างสัมพันธภาพกับเด็กโต ผู้ใหญ่ต้องรับฟังเด็กมากๆด้วยหัวใจ การรับฟังด้วยหัวใจ คือการสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย พ่อแม่ต้องฟังลูกมากๆ ไม่ใช่ว่าลูกพูดมาสองคำ พ่อแม่ก็แนะนำ(ในสิ่งที่คิดว่าดีและเหมาะสม)อีกหลายประโยค เด็กจะเงียบไปเลยถ้าเป็นอย่างนั้น พยายามฟังลูกพูดให้จบ รับรู้ความรู้สึกของเขาก่อน แล้วค่อยมาแนะนำตอนหลังก็ไม่สาย  
 
7. ผู้ใหญ่มีการควบคุมและจัดการกับอารมณ์ได้ ไม่ทำอะไรตามอารมณ์ อารมณ์โกรธ/ไม่พอใจ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเด็กคิดว่า ถ้าเล่าเรื่องนี้ ผู้ใหญ่ต้องโกรธมากจนทำอะไรรุนแรง เด็กก็จะรู้สึกว่าไม่เล่าดีกว่า แต่ถ้าเล่าไปแล้ว ผู้ใหญ่รับฟัง ให้โอกาส เด็กจะรู้สึกว่า มันปลอดภัยที่จะเล่า และเวลามีอะไรเขาก็จะเปิดเผยกับผู้ใหญ่มากขึ้น
 
เมื่อสัมพันธภาพดี การเปิดใจของเด็กก็จะตามมา และเราก็จะพุดคุยกันอย่างรู้เรื่องมากขึ้น
 
คีย์เวิร์ดคือ เด็กๆอยากมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่ผู้ใหญ่จะสานมันต่อหรือเปล่า มันอาจจะจี๊ดใจตรงนี้แหละค่ะ

เขียนโดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ
ภาพประกอบโดย พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์
หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa