window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

รับฟังลูกด้วยหัวใจ : ทำอย่างไร เมื่อคิดต่างเรื่องการเมือง ?

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ประเด็นร้อนระอุในบ้านเมืองเราระยะนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องปัญหาการเมือง 


ที่จริงมันก็เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานานในสังคมเรา และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย มันเกี่ยวพันกับเกือบทุกสิ่งในชีวิตของเรา


ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเมืองเราได้ทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้น ทั้งเปลี่ยนจากความขัดแย้งทางความคิดระดับปัจเจก ไปสู่ความขัดแย้งระดับสังคม และหลายครั้ง ความขัดแย้งนี้ก็ได้ย้อนกลับมาลุกลามเข้าถึงในบ้านด้วย


โดยเฉพาะในบ้านที่ลูกๆเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงวัยที่เริ่มค้นหาที่ทางของตนเองในโลก เด็กวัยรุ่นจึงเริ่มให้ความสนใจกับความเป็นไปของสังคมรอบตัว อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลจากภายนอกโดยเฉพาะจากโลกออนไลน์มากขึ้น นำไปสู่ความคิดความเชื่อที่แตกต่างจากพ่อแม่


แล้วเราจะอยู่ร่วมในบ้านเดียวกันได้อย่างไร เมื่อคิดต่างกัน ?


เมื่อวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เน็ตป๊าม้าได้มีโอกาสเชิญผู้เชี่ยวชาญสองท่านมาพูดคุยในประเด็นร้อนแรงนี้ ได้แก่ พญ. เบญจพร ตันตสูติ (จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ ‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ ) และดร. สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน (นักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระ ทางด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว) โดยทั้งสองท่านได้ให้ข้อคิดและคำแนะนำที่น่าสนใจในหลายอย่างเลยค่ะ


วันนี้ เราจึงได้รวบรวมประเด็นต่างๆจากไลฟ์ครั้งนี้มา เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ที่อาจกำลังประสบปัญหาเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองกับลูกๆ ต่อไปค่ะ

 

“มันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมีหลายมิติ” : ทำไมการเมืองจึงเป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดความรุนแรงเมื่อเห็นต่างกัน ?


มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การเมืองเป็นสิ่งละเอียดอ่อน ที่เมื่อหยิบยกมาพูดคุยกันเมื่อไรก็เป็นต้องผิดใจกันทุกครั้ง


ปัจจัยแรก เป็นเพราะการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องรสนิยมความชอบ แต่เป็นเรื่องของความคิดความเชื่อ และสิ่งใดก็ตามที่มีความเชื่อมาเกี่ยวข้อง มักเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ยากจะหาจุดลงตัวหรือข้อสรุปได้ 

นอกจากนี้ความขัดแย้งด้านการเมืองก็เป็นสิ่งที่ดำเนินอยู่ในบ้านเมืองเรามานาน เราต่างติดอยู่ในวังวนของความขัดแย้งนี้มาหลายสิบปีแล้ว จนความขัดแย้งนั้นรุนแรงและฝังรากลึกอยู่ในสังคม


ปัจจัยที่สองคือเรื่องอิทธิพลภายนอกที่มีผลต่อความคิดของเด็กๆรุ่นใหม่ 

เด็กๆรุ่นนี้เติบโตมาพร้อมโลกออนไลน์ เขาสามารถรับข้อมูลข่าวสารมากมายได้จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งย่อมมีผลต่อความคิดความเชื่อของตัวเด็กเอง 

ต่างจากในอดีตที่พ่อแม่คือผู้ที่มีอิทธิพลหลักต่อความคิดความเชื่อของลูก 


เมื่อรับสื่อจากแหล่งที่ต่างกัน จนความคิดความเชื่อต่างกัน จึงนำไปสู่ปัจจัยที่สาม คือช่องว่างระหว่างรุ่น (Generation gap) และสิ่งนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่ย้อนกลับมามีผลให้เกิดความขัดแย้งจากความเห็นที่ต่างกันในครอบครัวนั่นเอง


ปัจจัยสุดท้าย แต่สำคัญที่สุดคือ พื้นฐานสัมพันธภาพในครอบครัว


แม้จะคิดต่างกัน แต่หากในครอบครัวมีสายสัมพันธ์ที่ดี ย่อมสามารถหาวิธีการพูดคุยที่เข้าอกเข้าใจกันได้ ให้ความขัดแย้งไม่รุนแรง

ซึ่งเราจะพูดถึงเรื่องนี้ในประเด็นต่อไปกันค่ะ

 

“การทะเลาะกับลูกวัยรุ่น เหมือนการพายเรือทวนกระแสน้ำ” : พ่อแม่จะพูดคุยกับลูกเรื่องการเมืองอย่างไร ให้ไม่ทะเลาะกัน ?


คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจกังวลว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก จนไม่รู้จะเริ่มพูดคุยกับลูกอย่างไรในเรื่องนี้ 

ที่จริงแล้ว หากเป็นครอบครัวที่มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกัน พ่อแม่จะสามารถจับสัมผัสได้ว่าลูกมีความคิดกับการเมืองอย่างไร โดยไม่ต้องตั้งเป็นประเด็นขึ้นมา แต่รู้ได้จากการพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติ

เช่น หากมีข่าวเกี่ยวกับการเมือง ก็อาจลองถามว่าลูกคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ แลกเปลี่ยนความเห็นกัน โดยทำให้การเมืองเป็นเหมือนเรื่องทั่วไปที่สามารถพูดคุยกันได้


โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมในการพูดคุยเรื่องการเมืองกับลูก ดังนี้ค่ะ

  1. เตรียมอารมณ์ตนเองให้พร้อม ให้อารมณ์คงที่ มีสติ ไม่โกรธ อีกทั้งเตรียมใจว่านี่เป็นเรื่องที่อาจทำให้เกิดอารมณ์รุนแรงได้ จึงต้องควบคุมอารมณ์ตนเองให้ดี

  2. ดูลูกว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมจะพูดคุยหรือไม่ ถ้าลูกยังไม่พร้อม ไม่อยากคุย ก็ไม่ควรฝืนพูดคุย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยจังหวะเวลาที่ดีด้วย

  3. รับฟังลูกด้วยหัวใจ ให้ลูกเริ่มเล่าความเห็นตนเองก่อน และรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน

  4. พูดคุยด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่กล่าวโทษ 

  5. ค่อยๆบอกเล่ามุมมองของตนเอง แสดงให้ลูกรู้ว่าที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร

  6. พูดคุยหาจุดที่เป็นตรงกลางและยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย


สิ่งสำคัญที่สุดคือการแสดงให้ลูกรู้ว่าเป็นห่วง พร้อมสนับสนุน แสดงความรักความห่วงใย เพื่อให้ลูกรู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่ก็พร้อมจะโอบกอดลูกเสมอ


นอกจากนี้ ยังมีสิ่งต้องห้ามที่พ่อแม่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาดในการพูดคุยกับลูก ได้แก่

  1. ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ไม่ต่อว่าหรือพูดด้วยอารมณ์รุนแรง

  2. อย่าทวงบุญคุณลูก ถ้าเมื่อใดที่การพูดคุยลุกลามไปเป็นการทะเลาะกัน พ่อแม่ไม่ควรใช้คำพูดทำนองว่า “แม่เลี้ยงหนูมาขนาดนี้ ทำไมไม่เชื่อฟัง” เพราะนี่เป็นการพูดด้วยอารมณ์ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่พูดคุย ลูกจะรู้สึกต่อต้านมากขึ้น

  3. อย่าด้อยค่าลูก อย่าทำให้ลูกรู้สึกไร้ค่า ไม่ควรใช่คำพูดประเภท “ถูกคนหลอก” “ถูกครอบงำ” “ไปเชื่อตามๆกระแสกัน” คำพูดเหล่านี้จะทำให้ถูกรู้สึกถูกกดทับ และถูกผลักไสจากพ่อแม่

  4. อย่าโพสต์ลง social media เพราะจะทำให้การทะเลาะกัน เปลี่ยนจากความขัดแย้งภายในครอบครัว เผยแพร่ออกสู่สารธารณะ ซึ่งจะมำให้ปัญหาซับซ้อนและยากจะแก้ไขมากขึ้น


อีกสิ่งที่อยากฝากไว้ คือเราไม่ได้จำเป็นต้องพูดคุยประเด็นที่ละเอียดอ่อนให้จบภายในครั้งเดียว หากพูดคุยกันแล้ว รู้ตัวว่าเริ่มเกิดอารมณ์รุนแรง ให้ถอยออกมา แยกย้ายกันไปสงบสติอารมณ์ก่อน เมื่ออารมณ์เย็นลงจึงค่อยกลับมาพูดคุยกันใหม่ก็ได้

เรื่องบางเรื่องก็ต้องใช้เวลาค่ะ


.


“สร้างสรรค์ ถูกต้อง และรับผิดชอบ” : ว่าด้วยขอบเขตของการแสดงออกทางการเมือง


สำหรับประเด็นเรื่องการแสดงออกมางการเมือง ทั้งพญ.เบญจพรและดร.สรวงมณฑ์ ต่างเห็นตรงกันว่า ที่จริงการที่เด็กๆ สนใจเรื่องการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันเกี่ยวกับชีวิตเราอย่างแยกไม่ได้ และการที่เด็กสนใจการเมือง แปลว่าเขาไม่ได้มองแต่ตนเอง แต่ยังสนใจในความเป็นไปของโลกและสังคมด้วย


อย่างไรก็ดี การที่ผู้ปกครองรู้สึกเป็นห่วงเพื่อลูกๆแสดงออกทางการเมืองนั้นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้

เนื่องจากในบ้านเมืองเรา ทางภาครัฐและสังคมไม่ได้มีพื้นที่ที่เปิดกว้างให้เด็กแสดงออกทางการเมืองมากขนาดนั้น และหลายครั้ง การออกไปแสดงออกทางการเมืองก็นำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงตามมา


แล้วการแสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ควรเป็นอย่างไร

  • ความจริง : สิ่งสำคัญแรกสุดในการแสดงออก คือการแสดงสิ่งที่ถูกต้องและเป็นความจริง ไม่เผยแพร่ข่าวสารหรือข้อมูลที่เป็นความเท็จ

  • ความรับผิดชอบ : ทุกการกระทำย่อมมีผลกระทบตามมา จึงต้องสอนให้เด็กรู้ว่า ในทุกการแสดงออก ไม่ว่าจะคำพูดหรือการกระทำ ก็ต้องรับผิดชอบผลจากการแสดงออกนั้นด้วย



บทเรียนหนึ่งที่มนุษย์ระหว่างการการเติบโต คือการได้เผชิญเหตุการณ์บางอย่างด้วยตนเอง 

หน้าที่ของพ่อแม่จึงไม่ใช่การห้าม แต่คือการสนับสนุน ให้ความรักความห่วงใย รวมถึงให้คำแนะนำ สอนว่าหากมีเรื่องไม่ดีเกิดอะไรขึ้นจากการกระทำของตน ลูกจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ต้องทำอย่างไร


เพื่อให้ลูกรู้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกเสมอ


.

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจในประเด็นในเพิ่มเติม สามารถรับชมไลฟ์ “การเมือง : บ้านไม่แตก แม้คิดต่าง” ย้อนหลังได้ที่ : https://fb.watch/9Ffb93O7yX/


เขียนและเรียบเรียง โดย นศพ. รินรดา คงพิบูลย์กิจ

ภาพประกอบโดย โดย วิภาวี นันทจินดา

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa