window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

“Social Media” ปัจจัยที่ 5 หรือดาบสองคม

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สื่อ Social media ได้กลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน หลายๆคนอาจใช้เวลากว่าครึ่งในแต่ละวันหมดไปกับการอยู่กับหน้าจอ ไม่ว่าจะใช้ในการทำงาน ติดต่อสื่อสาร ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ไปจนถึงเสพสื่อบันเทิงต่างๆ 


อย่างไรก็ดี ทุกสิ่งย่อมมีทั้งด้านดีด้านเสีย แม้ว่า social media จะเป็นสื่อกลางที่สำคัญที่เชื่อมต่อชีวิตของเรากับโลกใบนี้ ทั้งยังเป็นเครือข่ายหลักที่ทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ แต่ก็ยังมีด้านมืดมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ ซึ่งไม่ใช่สิ่งเล็กน้อยที่มองข้ามไปได้


ในวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา Net-PAMA ได้มีโอกาสเชิญผู้เชี่ยวชาญสองท่าน ได้แก่ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ (จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต) และผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม (หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มาร่วมพูดคุยถึงปัญหาของการใช้ social media ในปัจจุบัน ทั้งในแง่มุมของจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และแง่มุมของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการใช้สื่อ วันนี้ทางเน็ตป๊าม้าจึงได้รวบรวมแง่มุมที่น่าสนใจมา เพื่อเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ 


  • “ความเป็นสังคมมันหายไป มันเป็นปัจเจกมากขึ้น” : จาก mass media สู่ social media 


ก่อนจะพูดถึงยุคของ social media ในปัจจุบัน เราอาจจะต้องย้อนความกันสักนิด ในยุคก่อนที่ social media จะกลายเป็นสื่อหลักเช่นทุกวันนี้ สิบกว่าปีก่อนสื่อที่มีอิทธิพลต่อผู้คนที่สุดคือโทรทัศน์ ยุคสมัยนั้นว่า mass media เป็นยุคที่มีการรวมกลุ่มก้อนของมวลชนในสังคม

ในขณะที่เมื่อเข้าสู่ยุคของ social media พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไปสู่ความเป็นปัจเจกมากขึ้น ความเป็นสังคมลดลง ดังที่จะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ในสังคมทุกวันนี้ ที่จะมุ่งเน้นผลในแง่การตอบสนองปัจเจกเป็นหลัก แทนที่จะมองในแง่กลุ่มก้อนสังคมโดยรวม

และการที่ผู้คนหมกมุ่นอยู่กับ ‘ความเป็นตนเอง’ มากขึ้น ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น FOMO ( Fear of Missing out : การกลัวการพลาดข่าวสาร) หรือ Phubbing (Phone + Snubbing : การเพิกเฉยคู่สนทนา ผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคที่ยังไม่มีการใช้ social media


  • “คนสมัยนี้ใช้ชีวิตกันยากขึ้น” : ว่าด้วยการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น กับการเติบโตของ social media


ยังคงเป็นเรื่องถกเถียงที่น่าสนใจมากว่าการเพิ่มขึ้นของปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่นอย่างมากในระยะหลัง มีความเกี่ยวข้องกับการเติบโตของ social media หรือไม่

ซึ่งในการพูดคุยที่ผ่านมาก อ.วรตม์ได้ชี้ให้เห็นเราเห็นว่า social media ย่อมส่งผลกับพื้นฐานพฤติกรรมของเด็กแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องของ #การยอมรับทางสังคม ในอดีต เมื่อเด็กคนหนึ่งได้รับคำชมหรือการยอมรับ มักจะเป็นคำชมโดยตรงจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเพื่อนหรือครู ซึ่งเห็นถึงความสามารถของเขา แต่ในปัจจุบัน เด็กๆหันไปสนใจกับการได้รับการยอมรับจากคนแปลกหน้า social media มากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อความเชื่อ บุคลิกภาพและการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กๆ 

อีกพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต คือเรื่อง #ความเข้าใจในการสื่อสาร สำหรับคนรุ่นก่อนที่เติบโตมาก่อนการแพร่หลายของอินเทอร์เน็ต จะมองอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงช่องทางการสื่อสารช่องทางหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับเด็กๆรุ่นนี้ที่เกิดมาก็รู้จักการใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว จึงมองว่ามันเป็นส่วนหลักของการสื่อสาร จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งทำให้เกิดทั้งข้อดีข้อเสีย ดังนั้น หากมีอะไรเกิดขึ้นใน social media จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตในโลกจริง

    ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันอีกเรื่อง คืออัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวข้องกับการเติบโตของ social media หรือไม่ 

คำตอบก็คือ เกี่ยว แต่ไม่ทั้งหมด และเกี่ยวโดยทั้งทางตรงและทางอ้อม

    ทางตรงคือ social media เป็นช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วและเปิดกว้าง ทำให้ผู้ใช้มีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลเชิงลบมากขึ้น และยังเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้คนทำร้ายกันได้ง่ายขึ้นผ่านการปกปิดตัวตน ซึ่งจะพูดถึงเรื่องนี้ในเชิงลึกต่อไป ในส่วนของ Cyberbullying ค่ะ

    ทางอ้อมคือ เมื่อตัวตนและการได้รับการยอมรับทาง social media กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อชีวิต ทำให้เด็กและวัยรุ่นเกิดการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น คุณค่าของตนเองถูกตัดสินโดยคนแปลกหน้า นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดความขัดแย้งและความไม่เข้าใจในครอบครัวได้ จากความแตกต่างของมุมมองในการใช้ social media ระหว่างพ่อแม่และลูก ซึ่งเติบโตมาคนละยุคสมัย ทั้งหมดเป็นผลกระทบที่ส่งต่อกันเป็นลูกโซ่ได้นั่นเองค่ะ

   

  • “Social media เป็นเหมือนประตู” : พ่อแม่จะมีวิธีพูดคุยกับลูกอย่างไร ถึงความปลอดภัยในการเล่น Social media

    อ่านมาถึงตรงนี้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเริ่มคิดว่า social media มีโทษหลายอย่างเหลือเกิน และกังวลว่าจะปกป้องลูกอย่างไร จากอันตรายในโลกออนไลน์

สิ่งแรกคือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความเข้าใจกับ Social media ก่อน และต้องยอมรับว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ผู้ร้าย Social media ก็เป็นเหมือนประตู มีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี มันเป็นทั้งประตูที่เปิดออกไปสู่โอกาสมากมาย แต่ก็ยังเป็นประตูให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาฉวยโอกาสได้ด้วย เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ ก็จะสามารถอธิบายให้ลูกฟังได้

เรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกในการเล่น social media คือการแยกแยะข่าวสารที่เป็นเท็จ (Fake news) 

ในปัจจุบัน ข่าวสารในโลกออนไลน์แพร่หลายไปด้วยความรวดเร็ว และหลายข่าวก็อาจไม่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องหรือเป็นเพียงการปลุกปั่น ผู้รับสารจึงต้องรู้จักการแยกแยะข่าวจริงและเท็จให้ได้ อ.วิไลวรรณได้ให้คำแนะนำสำคัญในการแยกแยะข่าวสารเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่เอง และเพื่อไปสอนลูกๆ ต่อไปได้ค่ะ 

โดยมีหลักการคือ “ลดความเร็ว เชคให้ถี่ถ้วน และรู้เท่าทันตนเอง” ค่ะ 

ลดความเร็วคือไม่รีบเชื่อหรือแชร์ข่าวสารนั้น ก่อนจะแน่ใจว่าไม่ใช่ข่าวเท็จ, เชคให้ถี่ถ้วน คือตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มา และรู้เท่าทันอคติในใจตนเองก่อนจะตัดสินใจเชื่อค่ะ

   

  • “ที่ไหนมีความไม่เท่าเทียมของอำนาจ ย่อมมีการกลั่นแกล้ง” : ว่าด้วย Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

    ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตของ social media คือ Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ 

    การกลั่นแกล้ง (Bullying) คือความไม่เท่าเทียมของอำนาจ เมื่อเกิดความไม่เท่าเทียมของอำนาจจึงเกิดการเบ่งอำนาจและการกดทับกัน การกลั่นแกล้งจึงพบได้ทั้งในชีวิตจริงและในโลกเสมือนออนไลน์

social media ยังทำให้การกลั่นแกล้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมันเป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อจำกัด ทำให้เรื่องราวดังกล่าวแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว และยังมีประเด็นเรื่องของ Digital footprint ที่ทำให้ข้อมูลนั้นๆ คงอยู่บนโลกออนไลน์ไปตลอดกาล และถูกนำกลับมาวนซ้ำๆได้อีกค่ะ การติดตั้งภูมิคุ้มกันแก่ลูกหลานในเรื่องนี้จึงสำคัญมาก


    แล้วพ่อแม่จะสังเกตได้อย่างไร ว่าลูกถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์มา ?

    สำหรับพ่อแม่บางท่าน โลกออนไลน์ที่ลูกใช้ชีวิตอยู่เป็นโลกที่พ่อแม่ไม่รู้จัก เข้าไม่ถึง ทำให้ไม่รู้เมื่อลูกถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์มา และลูกเองก็ไม่ได้เล่าให้ฟัง อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้ง ย่อมมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอ.วรตม์และอ.วิไลวรรณได้ให้ข้อสังเกตและคำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่เพื่อช่วยเหลือลูกๆ เมื่อถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์มาดังนี้ค่ะ

    ดังที่กล่าวไปแล้ว ว่าการกลั่นแกล้งคือการแสดงความไม่เท่าเทียมของอำนาจ พฤติกรรมของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง จึงเหมือนกับคนที่ถูกการกดทับของอำนาจ คือจะเก็บเนื้อเก็บตัว หงุดหงิด ซึมเศร้า และอาจกลัว social media ไป คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ได้ค่ะ

    แต่เมื่อ social media เป็นโลกที่ทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกัน ไม่ว่าอย่างไร เด็กย่อมมีโอกาสที่จะถูกกลั่นแกล้ง และพ่อแม่ก็ไม่สามารถตามไปปกป้องลูกๆ ได้ทุกที่ โดยเฉพาะในที่ที่คุณพ่อคุณแม่อาจเข้าไม่ถึง สิ่งที่จะช่วยปกป้องลูกๆ จากการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ได้ คือการเตรียมความพร้อมให้ลูกค่ะ สอนให้ลูกเข้าใจว่ามันมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ และสอนว่าเมื่อเกิดขึ้น ให้แก้ไขปัญหาอย่างมีสติ รวบรวมหลักฐาน มาบอกพ่อแม่ เพื่อจัดการต่อไปอย่างเหมาะสมค่ะ

    นอกจากนี้ อ.วิไลวรรณยังฝากเอาไว้ว่า สิ่งสำคัญหรือการปลูกฝังให้เด็กรู้จักสิทธิของตนเองค่ะ เพื่อให้ลูกใช้สิทธิของตนเองได้ ไม่รุกล้ำผู้อื่น ขณะเดียวกันก็สามารถปกป้องสิทธิตนเองได้ค่ะ

   

Social media อาจเป็นได้ทั้งปัจจัยที่ 5 สำหรับเด็กในยุคปัจจุบัน ผู้เติบโตมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเป็นได้ทั้งดาบสองคมที่จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวผู้ใช้ได้เช่นกันค่ะ อย่างไรก็ดี การใช้ social media เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้วในยุคสมัยนี้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ จึงไม่ใช่การห้ามลูกๆ เล่น social media เลย แต่เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ลูกๆ ให้รู้เท่าทันโลกออนไลน์และรู้จักการใช้อย่างเหมาะสมค่ะ


เขียนและเรียบเรียง : รินรดา คงพิบูลย์กิจ

ภาพประกอบ : ศิรภัสสร เย็นจิตต์

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa