window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกสมาธิสั้น

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
มีผู้ปกครองจำนวนมากถามเข้ามาว่าจะสังเกตยังไงว่าลูกเป็นสมาธิสั้น แม้แต่ผู้ปกครองที่พาลูกไปพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นสมาธิสั้นแล้ว ก็ยังไม่แน่ใจว่าลูกเป็นสมาธิสั้นจริงรึเปล่า บทความนี้่จะช่วยให้ผู้ปกครองทราบเกี่ยวกับตัวอย่างอาการที่พบบ่อยของเด็กสมาธิสั้น เพื่อใช้เป็นจุดสังเกต
อาการของเด็กสมาธิสั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการ ดังต่อไปนี้

1. กลุ่มอาการขาดสมาธิ (inattention)

ไม่รอบคอบ:
  1. ทำงานผิดพลาด สะเพร่า เช่น ทำเลขง่ายๆ ผิด โดยผิดในจุดที่ไม่น่าผิด
  2. มองข้ามสัญลักษณ์เวลาทำโจทย์คณิตศาสตร์ หรืออ่านข้ามคำบางคำที่เปลี่ยนความหมายของประโยค เช่น “ไม่” “ยกเว้น”
  3. เขียนงาน/ลอกงานตกหล่น เขียนข้ามข้อ จดการบ้านไม่ครบ
  4. ทำข้อสอบข้ามข้อ หรือลืมทำบางหน้า บางตอน
  5. ทำงานส่งเดช ทำแบบขอไปที รีบๆ ทำให้เสร็จโดยไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิด

ไม่จดจ่อขาดสมาธิ:
  1. อ่านหนังสือหรือทำงานได้ประเดี๋ยวเดียวก็หยุดทำ เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น
  2. รีบอ่านเร็วๆ อ่านข้ามๆ จนทำให้จับประเด็น หรือจำเรื่องที่เพิ่งอ่านจบไม่ได้
  3. ช่วงความสนใจสั้น เรียนอะไรนานๆ ไม่ได้
  4. เล่นของเล่นแต่ละอย่างไม่ได้นาน เปลี่ยนของเล่นไปเรื่อยๆ ยกเว้นเล่นของเล่นชิ้นใหม่ หรือเป็นของเล่นที่ชอบมากจริงๆ
  5. ทำงานช้า ใช้เวลาทำการบ้านนานกว่าที่ควรจะเป็น
  6. ต้องนั่งคุม คอยเรียกกระตุ้นบ่อยๆ เพื่อให้งานเสร็จ
  7. หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ ได้เร็ว โดยเฉพาะเรื่องเรียน ต้องคอยเรียก คอยกระตุ้นให้กลับมาสนใจ

ไม่ฟังเวลาพูดด้วย:

  1. ดูไม่ตั้งใจ หรือสนใจฟังเวลาคุยด้วย เหมือนใจลอย หรือกำลังคิดเรื่องอื่นอยู่
  2. เหมือนไม่ได้ยินเวลาเรียกชื่อ หรือถามคำถาม ต้องเรียก ต้องพูดหลายๆ ครั้ง
  3. ถามซ้ำในสิ่งที่พ่อแม่/ครูเพิ่งพูดจบ หรือถามกลับมาว่า “เมื่อสักครู่พูดว่าอะไรนะ”
  4. เวลาจะให้ทำอะไรต้องเรียกแล้วเรียกอีก

ทำงานไม่เสร็จ:

  1. มักทำงานค้างไว้ ทำครึ่งๆ กลางๆ ไม่ทำให้เสร็จๆ ไป
  2. ทำอะไรได้ประเดี๋ยวเดียวก็เลิกทำ
  3. ทำงานจับจด เดี๋ยวทำนั่น เดี๋ยวทำนี่ งานไม่เสร็จสักชิ้น
  4. ส่งงานช้า ทำงานเลยกำหนดเวลาส่ง ต้องถูกทวงงานบ่อยๆ
  5. เวลามีงานใหม่ที่ดูท้าทายหรือน่าสนใจจะกระตือรือร้น สนใจทำในช่วงแรก แต่ผ่านไปสักพักก็เริ่มเบื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผ่านจุดที่น่าสนใจไปแล้ว

ไม่เป็นระเบียบ:

  1. มีปัญหาในการวางแผนว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง ขาดการวางแผนล่วงหน้า ทำมั่วไปหมด
  2. วางสิ่งของไม่เป็นที่ กระจัดกระจาย
  3. กระเป๋า โต๊ะทำงาน ลิ้นชัก ตู้เสื้อผ้า ห้องนอน รก ไม่เป็นระเบียบ ถึงแม้มีคนจัดของให้เป็นระเบียบแล้ว ประเดี๋ยวเดียวก็รกอีก
  4. บริหารเวลา/วางแผนเวลาไม่เป็น ไม่สนใจเวลา
  5. ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว ช้า อืดอาด ยืดยาด
  6. ปกสมุด/หนังสือฉีกขาด กระดาษ/เอกสารยับยู่ยี่
  7. เอาของที่จำเป็นต้องใช้ (เวลาไปโรงเรียน เข้าค่าย หรือไปเที่ยว) ไปไม่ครบ ถ้าไม่มีคนจัดให้

หลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิด:

  1. โอ้เอ้ อิดออด ต่อรอง ลีลาเยอะเวลาจะต้องทำงาน/ทำการบ้าน
  2. ผัดวันประกันพรุ่ง ใช้เวลานานกว่าจะเริ่มทำงานได้
  3. เอื่อย เฉื่อย หมกงาน ดองงานจนทำให้มีงานค้าง
  4. โกหกว่าไม่มีการบ้านเพื่อจะได้ไม่ต้องทำ
  5. ชอบมีข้ออ้าง หรือหาทางลัดเพื่อให้ต้องทำงาน/ทำการบ้านน้อยที่สุด
  6. ดูเหมือนเป็นคนขี้เกียจ ขาดความรับผิดชอบ

ทำของหายบ่อย:

  1. มักวางของผิดที่ หาของที่ใช้ประจำไม่ค่อยเจอ เพราะจำไม่ได้ว่าวางไว้ที่ไหน หรือใช้เวลานานกว่าจะหาเจอ
  2. ทำสมุด หนังสือ อุปกรณ์การเรียน (ยางลบ ดินสอ ไม้บรรทัด) หรือของใช้ส่วนตัวหายบ่อย

วอกแวกง่าย:

  1. ฝันกลางวัน เหม่อ ใจลอย ชอบคิดเรื่องอื่นในเวลาเรียน/เวลาทำงาน
  2. เวลาคิดอะไรอยู่มักมีความคิดอื่นผุดแทรกขึ้นมา
  3. เวลามีเสียงดัง มีอะไรเคลื่อนไหว หรือใครเดินผ่านไปผ่านมา จะหยุดทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้วหันไปสนใจ
  4. สนใจสิ่งรอบตัวหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน
  5. กำลังพูดอยู่เรื่องหนึ่งอาจเปลี่ยนไปพูดอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

ขี้ลืม:

  1. ลืมส่งการบ้าน
  2. ลืมเอาจดหมาย/เอกสารจากครูให้พ่อแม่
  3. ทำตามคำสั่งของพ่อแม่/ครูไม่ครบ เวลาถูกสั่งให้ทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน
  4. พูดๆ อยู่แล้วลืม คิดไม่ออกว่ากำลังจะพูดอะไร
  5. บอกว่าเดี๋ยวจะทำอะไรก็มักจะลืมทำ
  6. ลืมนัด ลืมตารางเวลา จำไม่ได้ว่าเวลาไหนต้องทำอะไร

2.กลุ่มอาการซน อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity)

หยุกหยิกอยู่ไม่นิ่ง:
  1. มืออยู่ไม่นิ่ง หยิบจับ เคาะสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ล้วง แคะ แกะ เกา
  2. ขยับตัวไปมา เลื้อย ไถลตัว เวลานั่งอยู่บนเก้าอี้
  3. โยก หมุน ขยับเก้าอี้ไปมา
  4. เตะขา เขย่าขา นั่งนิ่งๆ ไม่ได้
  5. อยู่เฉยๆ ไม่เป็น
  6. ชอบหยอกล้อ แหย่ ยั่วโมโห แกล้งคนอื่น

นั่งไม่ติดที่:

  1. เดินไปเดินมาในเวลาเรียน
  2. หาเรื่องลุกออกจากที่เวลาอยู่ในห้องเรียน
  3. ชอบอาสาทำงานที่ต้องเคลื่อนไหว ไปโน่นไปนี่

ซน:

  1. ชอบปีนป่าย มุด คลาน วิ่งไปมา (พบในเด็กเล็ก เด็กวัยอนุบาล หรือวัยประถม)
  2. รู้สึกอึดอัด เบื่อ กระวนกระวาย เมื่อต้องอยู่นิ่งๆ (พบในวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่)
  3. มักได้รับบาดเจ็บจากการเล่นซน หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย
  4. ชอบทำอะไรที่ตื่นเต้น ท้าทาย หวาดเสียว
  5. เล่นแผลงๆ เป็นตัวป่วน รบกวนคนรอบข้าง

ทำอะไรเสียงดัง:

  1. เล่นโฉ่งฉ่าง เล่นเสียงดัง มักโยนหรือกระแทกของเล่นให้เกิดเสียงดังๆ
  2. ชอบตะโกน โวยวาย ส่งเสียงร้องกรี๊ด เวลาเล่นสนุกหรือตื่นเต้น
  3. ส่งเสียงดังเวลาอยู่ในห้องเรียน
  4. มักทำอะไรบางอย่างให้เกิดเสียงขึ้นมา เวลาอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการความเงียบสงบ

พลังงานเหลือเฟือ:

  1. ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มักหาอะไรทำตลอดเวลา
  2. เล่นแรง หรือชอบทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ
  3. คนเลี้ยง/คนดูแลมักจะเหนื่อยหรือหมดแรง เวลาที่ต้องดูแลเด็กกลุ่มนี้

พูดมาก:

  1. พูดได้ตลอดเวลา พูดไม่หยุด จนสร้างความรำคาญให้คนรอบข้าง
  2. พูดไม่ถูกกาลเทศะ พูดเรื่อยเปื่อย พูดไร้สาระ
  3. พูดเสียงดัง หรือชอบส่งเสียงประหลาดๆ
  4. ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ควรหยุดพูด
  5. พูดโดยไม่คิด จนทำให้คนฟังโกรธหรือเสียความรู้สึก

3. กลุ่มอาการหุนหันพลันแล่น (impulsivity)
พูดแทรก:
  1. พูดโพล่งขึ้นมาในขณะที่ผู้อื่นยังพูดไม่จบ
  2. ชิงตอบคำถามก่อนที่จะฟังคำถามจบ
  3. ตะโกนตอบคำถามที่ครูถาม โดยไม่ยกมือหรือรอให้ครูเรียกตอบ

รอคอยไม่เป็น:

  1. ไม่ชอบเข้าคิว ชอบแซงคิว
  2. ใจร้อน อยากได้อะไรต้องได้เดี๋ยวนั้น
  3. ความอดทนต่ำ ล้มเลิกความตั้งใจง่าย
  4. ลงมือทำงานโดยไม่รอฟังคำสั่งให้จบว่าต้องทำอะไรบ้าง

ขัดจังหวะสอดแทรก:

  1. ขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำอะไรโดยไม่คิดถึงผลที่ตามมาว่าจะเสียหายเพียงใด
  2. บุ่มบ่าม ไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่สังเกตว่าคนอื่นกำลังทำอะไรอยู่
  3. โดดเข้ากลางวงขณะเพื่อนๆ กำลังเล่นอยู่ จนทำให้วงแตก
  4. แย่ง หยิบของจากมือคนอื่นโดยไม่ขออนุญาตก่อน
  5. ก้าวก่าย จุ้นจ้านเรื่องของคนอื่นโดยไม่ได้เจตนา
จะสังเกตได้ว่าอาการหลายอาการข้างต้น สามารถพบเห็นได้ในเด็กปกติทั่วไป แต่ในเด็กปกติทั่วไปอาจมีเพียงไม่กี่อาการ นานๆ เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง และไม่สร้างความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดผลเสียมากนัก

ในขณะที่เด็กสมาธิสั้นจะมีอาการดังกล่าวข้างต้นหลายอาการ (มากกว่า 6 อาการในกลุ่มอาการขาดสมาธิ และ/หรือ มากกว่า 6 อาการในกลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่งและกลุ่มอาการหุนหันพลันแล่นรวมกัน) ต้องเกิดขึ้นบ่อยมาก (excessive) เป็นทั้งที่บ้านและนอกบ้าน ที่สำคัญต้องสร้างความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเอง หรือคนรอบข้างอย่างมาก (impairment) โดยที่อาการดังกล่าวต้องเกิดก่อนอายุ 12 ปี

หากพ่อแม่สงสัยหรือไม่แน่ใจว่าลูกจะเป็นสมาธิสั้นรึเปล่า ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์เด็ก หรือกุมารแพทย์พัฒนาการเพื่อการตรวจประเมินอย่างละเอียด


เรียบเรียงโดย รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล
ภาพประกอบโดย ศิรภัสสร เย็นจิตต์
หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa