window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

5 ข้อที่พ่อแม่ไม่ควรทำเวลาโกรธ

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ในชีวิตประจำวันของคนที่มาอยู่รวมกันเป็นครอบครัว ก็ต้องมีเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธ โมโห กันอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย
.
อย่างพ่อแม่ลูก บ่อยๆที่ลูกทำอะไรบางอย่างให้พ่อแม่โกรธ เวลาที่โกรธ การตัดสินหรือการกระทำของพ่อแม่มักทำไปตามอารมณ์ตอนนั้น เหตุผลมักใช้ไม่ได้เวลาที่พ่อแม่โกรธ ทำอะไรลงไปก็มานั่งเสียใจภายหลังก็บ่อยๆ
.
แถมจัดการพฤติกรรมของลูกก็ไม่ค่อยได้ หรือถ้าได้ก็ต้องใช้ความรุนแรง กลายเป็นโกรธกันต่อไปหลายวัน
.
มีคำพูดที่บอกว่าพ่อแม่ก็เหมือนกระจกสะท้อนพฤติกรรมของลูก ถ้าพ่อแม่จัดการลูกด้วยความโกรธ ลูกก็จะโกรธตอบ ถ้าพ่อแม่รุนแรงกับลูก ลูกก็จะรุนแรงตอบ และอาจกลายเป็นเด็กที่ชอบใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหา
.
มีหลายๆพฤติกรรมที่พ่อแม่มักจะทำเวลาที่เกิดความโกรธกับพฤติกรรมไม่ดีๆของลูก
.
หมอจะพูดถึงพฤติกรรม 5 ข้อ ที่พ่อแม่ไม่ควรทำในเวลาที่โกรธ (แต่มักเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทำอยู่บ่อยๆ)
.
1) ตะโกน
บ่อยๆ เลยที่เวลาโกรธ เสียงเราจะดังขึ้น แล้วยิ่งตะโกนไป นอกจากเราจะเหนื่อย เจ็บคอ บางทีลูกก็ไม่ฟัง กลับตะโกนใส่เราอีก กลายเป็นตะโกนไปตะโกนมา คุยกันไม่รู้เรื่อง ลูกไม่เข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่อยากจะบอก รอใจเย็น คุยกันด้วยเหตุผล มากกว่าต้องใช้เสียงที่ดัง
.
2) ตี
พอเราโกรธ บางครั้งเราก็อยากจะทำโทษลูก เราหงุดหงิดที่ลูกไม่เชื่อฟัง เลยตีไปสักป้าบสองป้าบ การที่เราตีลูกเวลาโกรธมากๆ ช่วงนั้นการตีของเรามักจะรุนแรงกว่าปกติ ด้วยอารมณ์ที่ท่วมท้น ทำให้เราลงมืออย่างหนัก พอทำไปแล้วลูกก็อาจจะหยุดพฤติกรรม แต่สิ่งที่ตามมาคือ ลูกก็จะซึมซับการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง แถมสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับลูกก็จะแย่ลง พ่อแม่ก็ไม่สบายใจที่ตีลูก ตีเสร็จแล้ว ลูกไม่เข้าใจว่าพ่อแม่ต้องการให้เขาทำอะไร ปัญหาพฤติกรรมก็ยังคงค้างคา จัดการไม่ได้เสียที รอให้หายโกรธ ทำโทษด้วยวิธีอื่นๆ น่าจะดีกว่า
.
3) ประชด
คำพูดประชดประชัน เช่น 'รู้แบบนี้ไม่มีลูกเสียก็ดี เลี้ยงยาก เลี้ยงเย็นนัก' มักจะหลุดจากปากเวลาที่เราโกรธ เพราะตอนที่พูดเราอาจจะสะใจดี แต่จะทำให้ลูกรู้สึกแย่ แถมไม่เข้าใจชัดเจนว่าพ่อแม่ต้องการให้เขาแก้ไขพฤติกรรมยังไงด้วย
.
4) เปรียบเทียบ
ก็เหมือนกับการประชดประชัน คำพูดเปรียบเทียบทำให้คนฟังรู้สึกไม่ดี ไม่มีใครอยากถูกนำตัวเองไปเทียบกับใคร เด็กๆก็เช่นกัน คำพูดอย่างเช่น 'ดูตัวอย่างน้องเขาบ้างสิ กลับถึงบ้านก็ทำการบ้านทันที ไม่เห็นต้องให้แม่บ่นเลย' นอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ชอบใจ เด็กก็จะไม่เข้าใจสิ่งที่แม่ต้องการจะสื่อ จริงๆ แล้ว แม่ก็เพียงอยากให้เด็ก ทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อยเท่านั้น
.
5) เอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่
สิ่งที่เด็กไม่ชอบเลยคือ เวลาที่พ่อแม่โกรธ แล้วแทนที่จะพูดถึงเรื่องในปัจจุบัน แต่กลับย้อนอดีต ว่าที่ผ่านมาเด็กๆทำอะไรบ้างให้พ่อแม่โกรธหรือหงุดหงิด แล้วก็พูดยืดยาว ทำให้เรายิ่งหงุดหงิด แล้วเด็กก็หงุดหงิดเช่นกัน กลายเป็นคุยไม่รู้เรื่อง ทะเลาะกันไปไกล สรุปว่าไม่ได้คุยกันในเรื่องที่เป็นปัจจุบัน แต่ขุดเอาเรื่องที่ผ่านมาในอดีตมาเป็นประเด็น
.
จริงๆแล้วเด็กๆ ก็ไม่อยากทำให้พ่อแม่โกรธ ตรงกันข้ามอยากทำให้พ่อแม่พอใจ ชมเชย แต่คนเราทำผิดพลาดก็เป็นธรรมดา พ่อแม่ควรทำความเข้าใจ โกรธได้แต่อย่าให้ความโกรธนั้นทำให้ทำหรือพูดอะไรลงไปอย่างขาดสติรู้ตัว รู้เท่าทันอารมณ์ ถ้าโกรธมาก ก็ไปพักสักเดี๋ยว เช่น ไปล้างหน้า ดื่มน้ำเย็นๆ หรือหายใจเข้าออกลึกๆ บอกเด็กว่าพฤติกรรมไหนที่เราไม่พอใจ และจะชอบมากกว่า ถ้าเขาทำแบบไหน บอกอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องใช้อารมณ์รุนแรง

เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้จากเราด้วยในเรื่องการควบคุมอารมณ์ ในเวลาที่โกรธและโมโห ถ้าพ่อแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
.
เขียนโดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ

ภาพถ่ายโดย Liza Summer จาก Pexels

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa