window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

อาการซนอยู่ไม่นิ่งของลูกนั้นมีที่มาที่ไป 

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ช่วงหลายปีที่ผ่านมามักมีหลายๆคนพูดถึงเรื่องของโรคสมาธิสั้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังสับสนและไม่เข้าใจในเรื่องนี้ บางคนเข้าใจว่าสมาธิสั้นเป็นนิสัยของเด็ก บางคนคิดว่าเป็นโรคเดียวกับออทิสติกหรือปัญญาอ่อน แล้วจริงๆ โรคสมาธิสั้น คืออะไร มีจริงหรือไม่

ในความเป็นจริงโรคสมาธิสั้นนั้นพบได้บ่อย สำหรับในเด็ก 100 คน ทางสถิติพบว่า ประมาณ 5 คนจะมีโรคสมาธิสั้น 
.
นั่นก็คือ สมมติว่าห้องเรียนห้องหนึ่งมีนักเรียน 50 คน ก็น่าจะมีเด็กสมาธิสั้นอยู่ประมาณ 2-3 คน เป็นตัวเลขปกติ และในงานที่หมอทำอยู่ เด็กสมาธิสั้นก็เป็นกลุ่มหลักที่มาใช้บริการจิตแพทย์เด็กที่โรงพยาบาล 
.
แทบทุกวันที่หมอออกตรวจ ต้องเจอกับเด็กหลายคนที่เป็นสมาธิสั้น 
.
ไม่เฉพาะเด็กๆที่มาหาหมอ คนที่หมอรู้จักหลายๆคน ก็เป็นสมาธิสั้น เชื่อไหมคะว่า บางคนกินยาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และทำงานมีหน้าที่การงานที่ดี เพราะได้รับการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ 

พูดถึงโรคสมาธิสั้น พอฟังชื่อแล้่วอาจจะดูไม่ค่อยเพราะ แต่จริงๆมันก็เป็นแค่ชื่อเรียก ไม่อยากให้ไปคิดมาก หรือยึดติดกับการวินิจฉัย 
.
อีกอย่างที่ชอบเข้าใจผิดกัน ก็คือ คนทั่วไปมักจะสับสน ระหว่าง สมาธิสั้น สติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ และ ออทิสติก จริงๆแล้ว เป็นคนละโรคกัน แต่โอเคที่ทั้งสามโรคอาจจะเจอร่วมกันในคนๆเดียวได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กสมาธิสั้นต้องมีปัญหาทางสติปัญญา เด็กสมาธิสั้นนั้นสามารถมีสติปัญญาแบบไหนก็ได้ ทั้งระดับสูง มาตรฐาน หรือต่ำกว่าเกณฑ์ 
.
ต้องบอกว่า สมาธิสั้นไม่ใช่เด็กดื้อหรือซนโดยนิสัย แต่เป็นความผิดปกติของสารที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสมาธิในสมอง โดยสารสมาธินั้นอาจจะขาดความสมดุล มีน้อยเกินไป (นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมหมอต้องให้กินยา เพราะยาจะไปเพิ่มความสมดุลของสารสมาธิให้มีปริมาณที่เหมาะสม) 
.
แล้วสมาธิสั้น เป็นยังไงกันแน่ล่ะ หลายๆคนถาม... 
.
เด็กสมาธิสั้นทั่วไปก็หน้าตาเหมือนเด็กๆทั่วไป นี่แหละค่ะ เอาเป็นว่า ขอยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่ง ที่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ แต่อาจจะหลบอยู่ตามซอกหลืบของห้องเรียน เพราะถูกปฏิเสธจากคนรอบข้าง เพราะพฤติกรรมทีอาจจะก่อกวน รบกวนคนอื่น แต่จริงๆ เด็กสมาธิสั้น ไม่มีใครที่ตั้งใจอยากจะเป็นแบบนั้น เพียงแต่เขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้  

ไวไว เด็กผู้ชายอายุ 7 ปี เรียนอยู่ ป. 2 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งของจังหวัด  
.
ครูแนะนำให้แม่พาไวไวมาหาหมอ ประวัติคือ ที่โรงเรียนจะอยู่ไม่นิ่ง นั่งเรียนได้สักพักจะชอบลุกขอออกไปเข้าห้องน้ำ คุยกับเพื่อนบ่อย ไม่ค่อยส่งงาน จดงานไม่ค่อยจะทัน  
.
ไวไวค่อนข้างใจร้อน เวลาเพื่อนล้อมักคุมอารมณ์ไม่ได้ มีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนบ่อยๆ จริงๆแล้ว ไวไวมีข้อดี คือ มีน้ำใจชอบช่วยครู แต่ต้องพูดดีๆด้วย เวลาทำงานถ้ามีคนนั่งคุมจะทำได้  
.
แม่บอกว่า ไวไวมักทำของหายที่โรงเรียนประจำ สมุดงานจะไม่มีระเบียบ เวลานั่งทำการบ้านถ้านั่งคุมจะทำได้ แต่ถ้าปล่อยให้ทำเอง เด็กจะทำได้แป๊บเดียวแล้วไปทำอย่างอื่น ไปวิ่งเล่น ไปดูทีวี ไม่สามารถทำการบ้านได้นานๆ บางครั้งต้องตี ต้องดุ จนเครียดกันหมดทั้งแม่และไวไว 

โรคสมาธิสั้นนั้น หมอจะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติอาการที่พบ โดยเด็กส่วนใหญ่จะมีอาการทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน โดยอาการที่พบนั้นจะแบ่งเป็น 3 แบบ บางคนก็มีรวมๆกันทุกแบบ แต่บางคนก็มีแต่แบบเดียวหรือสองแบบก็ได้  
.
แต่ไม่ใช่ว่าถ้าทุกคนมีอาการแล้วต้องเป็นสมาธิสั้นแน่ๆ เพราะมีหลายสถานการณ์ที่เด็กอาจจะมีอาการคล้ายๆสมาธิสั้นได้ เช่น ในเด็กเล็กๆนั้นมีอาการซุกซนอยู่ไม่นิ่งเป็นปกติตามวัยได้ เด็กที่ถูกเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม เช่น ตามใจมาก ทำให้ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง เด็กที่กังวล เครียด ซึมเศร้า บางทีก็แสดงอาการแบบสมาธิสั้นได้ (ต้องให้แพทย์ตรวจประเมินให้ชัดเจนจึงจะสรุปได้ว่าเด็กเป็นอะไร)  
.
สำหรับอาการทั้งสามแบบนั้น มีอะไรบ้าง 
.
หนึ่งคือ ซุกซนอยู่ไม่นิ่ง เด็กจะอยู่ไม่ค่อยนิ่ง เด็กเล็กจะอาการชัดกว่า คือ วิ่งได้ตลอด ดูเหมือนพลังงานเหลือเฟือ บางคนที่ซนมาก แม่จะบอกว่า เด็กวิ่งได้ก่อนเดิน ถ้าซนมากๆอาจมีเรื่องอุบัติเหตุ เพราะชอบปีนป่าย วิ่งไปทั่ว เข่าเป็นแผล หัวแตกก็มี แต่เด็กบางคนที่โตแล้วอาจไม่ได้ซนชัดเจน แต่จะมีอาการเวลานั่งเฉยๆจะรู้สึกกระวนกระวายใจ ต้องเขย่าขา ขยับไปมาดูอยู่ไม่สุข นอกจากนั้นบางคนจะพูดเก่งพูดมาก พูดไม่หยุด 
.
สองคือ อาการหุนหันพลันแล่น เด็กจะรอคอยอะไรนานๆไม่ได้ บางคนเหมือนคอยได้แต่จะอึดอัดรำคาญ บางคนเป็นมาก ก็ไม่รอ บางทีแซงแถว บางครั้งก็พูดสอดเวลาคนอื่นกำลังคุยอยู่ ผู้ใหญ่ถามคำถามไม่จบก็รีบพูดแทรกเข้ามา บางคนใจร้อนมาก ก็จะมีปัญหากับเพื่อน เช่นทะเลาะกัน กระทบกระทั่ง บางครั้งเด็กมักจะบอกว่า ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำอะไรรุนแรง มักบอกว่า "มือไปไวกว่าความคิด คิดไม่ทัน" 
.
สามคือ อาการขาดสมาธิวอกแวก เด็กมักไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน โดยต้องดูอาการเวลาที่เด็กทำเรื่องที่เด็กไม่ชอบ ต้องฝืนตัวเอง เช่น ทำการบ้าน (ส่วนในเรื่องที่เขาชอบ เช่น เล่นเกม ดูทีวี นั้นถ้าทำได้นาน ไม่ได้บอกว่าเขาสมาธิดี) เวลาเราพูดอะไรด้วยจะเหมือนไม่ได้ฟังที่เราพูด(เหมือนหูซ้ายทะลุหูขวา) มีอะไรผ่านมานิดหน่อยเด็กจะถูกดึงดูดความสนใจง่าย เช่น นั่งทำการบ้านอยู่ข้างหน้าต่าง เด็กก็จะชอบมองออกไปนอกหน้าต่างบ่อยๆ ว่ามีอะไร เช่น นกตัวไหนบินอยู่ เครื่องบินกำลังมา เป็นต้น หรือบางคนพูดอะไรให้ฟังก็จำไม่ได้ จับใจความได้ไม่หมด บางคนขี้ลืมมาก แม่จะบอกว่าเอาของไปโรงเรียนกลับมาหายหมด ถ้าไปดูสมุดการบ้านจะเห็นว่าของบางคนจะเละไม่มีระเบียบ วาดรูปเล่นเต็มไปหมด 
.
ลองสังเกตเด็กๆของเราดู ถ้าสงสัยว่าเป็นโรคนี้ควรได้รับการตรวจประเมินจากจิตแพทย์เด็กเพราะอย่างที่เกริ่น สมาธิสั้นนั้นพบได้ในเด็กทั่วไปได้ 5%  
.
นอกจากนี้อย่างที่บอกก็คือ อาการสมาธิสั้นเจอได้ในหลายๆภาวะ ดังนั้นการวินิจฉัยจากแพทย์จึงจำเป็น และอย่าลืมว่าสมาธิสั้นรักษาได้และได้ผลดี(นอกจากจะมีโรคอื่นๆร่วม หรือมีปัจจัยที่ทำให้โรคเป็นมากขึ้น เช่น พ่อแม่ตามใจมาก ถ้าปรับพ่อแม่ไม่ได้ การรักษาก็จะยากขึ้น) 
.
ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กหลายคนเป็นสมาธิสั้นแต่ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือ เด็กต้องทนอยู่ในสังคมที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ เช่น ครูก็มองว่า เด็กทำไมซน ทำไมไม่มีสมาธิ ไม่เชื่อฟังครูเลย พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ บ่นว่ากับพฤติกรรมของเด็กอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่เด็กมีศักยภาพอยู่แต่เพราะสมาธิไม่ดีจึงใช้ศักยภาพได้ไม่เต็มที่ จนเด็กเริ่มรู้สึกว่า ตัวเองไม่ดี ทำให้มองตัวเองในแง่ลบ ไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง (low self-esteem) ทำให้มีปัญหาทางอารมณ์ตามมา เช่น กังวล ซึมเศร้า และอาจจะมีปัญหาพฤติกรรมเมื่อเป็นผู้ใหญ่  
.
จริงๆแล้วแค่เด็กสมาธิสั้นได้รับการช่วยเหลือ เขาก็จะมีความสุขขึ้น คนรอบข้างก็จะมองเขาดีขึ้น ดุว่าเขาลดลง  
.
พ่อแม่หลายคนก็กลัวว่า มาหาหมอต้องกินยา กลัวเรื่องยา จริงๆแล้ว การที่จะกินยาหรือไม่กินต้องดูหลายๆด้าน บางครั้งมีความจำเป็น หมอก็จะแนะนำให้กิน แต่สุดท้ายการตัดสินใจให้ความยินยอมก็ต้องอยู่ที่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ไม่ยอม ไม่เต็มใจก็อาจจะใช้วิธีปรับพฤติกรรม สิ่งแวดล้อมอื่นๆได้ค่ะ 
.  
สำหรับไวไว หมอได้วินิจฉัยว่าเป็น สมาธิสั้น ได้รับการรักษาด้วยการกินยาก ร่วมกับการปรับพฤติกรรม หลังกินยาไม่นาน แม่บอกว่า ไวไวรับผิดชอบงาน ทำการบ้านเสร็จโดยไม่ต้องนั่งเฝ้า แม่ไม่ต้องบ่นแล้ว จดงานทัน ไม่มีงานค้าง ครูบอกว่า ไวไวใจเย็นขึ้น เล่นกับเพื่อนไม่แรงเหมือนก่อน ไวไวได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้อง และเป็นทีรักของครูและเพื่อนๆ มีความฝันว่าอยากเป็นครู จะได้มาสอนเด็กๆ 
.
หมอก็ได้แต่ฝันว่า เด็กสมาธิสั้นทุกคนจะได้รับโอกาสและการดูแลอย่างไวไว 
.
เรียบเรียงโดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ
ภาพประกอบโดย พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์
หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa