window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

พ่อแม่จะปรับตัวอย่างไร เมื่อลูกรักต้องเรียนออนไลน์

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

เมื่อการเรียนออนไลน์ทำร้ายทุกคน

“หนูไม่อยากเรียนออนไลน์ เรียนแล้วไม่เห็นรู้เรื่องอะไรเลย”

 

“ลูกเรียนออนไลน์แล้วเครียดมาก ไม่มีสมาธิเลย แม่ก็เครียด เพราะต้องทำงานและต้องคุมลูกเวลาเรียนไปด้วย”

“เบื่อมาก อยู่แต่บ้าน อยากไปโรงเรียน อยากไปเจอเพื่อนๆ”


“การบ้านเยอะมาก ครูสั่งงานเยอะกว่าปกติ เรียนออนไลน์ไม่ได้แปลว่าอยู่บ้านว่างๆ เสียหน่อย”


เสียงบ่นมากมายจากทั้งเด็กๆ และพ่อแม่ เมื่อต้องกลับมาเรียนออนไลน์กันอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ที่รุนแรงขึ้น 

การเรียนออนไลน์ไม่ได้ทำร้ายเพียงเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังกระทบกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ช่วยเตรียมการเรียนของลูกด้วย นำมาซึ่งปัญหาหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น 

  • เด็กๆ เรียนได้ไม่เต็มที่ ไม่มีสมาธิ โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ที่การเรียนรู้เกิดจากการมีปฎิสัมพันธ์และการลงมือทำมากกว่าการนั่งรับสารอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การเรียนออนไลน์จึงทำให้เด็กๆ เครียดและเรียนไม่เข้าใจ
  • เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้พบปะเพื่อนฝูง ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว เหงา มนุษย์ทุกคนต่างต้องการปฎิสัมพันธ์กับคนอื่น เมื่อไม่สามารถเติมเต็มในชีวิตจริงได้ พวกเขาก็ต้องไปแสวงหาจากทางอื่น ซึ่งทางเดียวที่ทำได้คือการเล่นเกมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้เสี่ยงต่อภาวะเสพติดอินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วย
  • พ่อแม่หลายท่านที่ยังต้องออกไปทำงานนอกบ้านปกติ ไม่สามารถดูแลลูกระหว่างเรียนได้ หรือพ่อแม่ที่ทำงานอยู่ที่บ้าน ก็ต้องทำงานไปด้วย ดูแลลูกเรียนหนังสือไปด้วย นำมาซึ่งภาระงานที่มากขึ้น ทำงานได้ไม่เต็มที่ และทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้
  • บางครอบครัวไม่พร้อมกับการเรียนออนไลน์ ที่ต้องอาศัยอุปกรณ์หลายอย่าง คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต
  • สภาพแวดล้อมของบางบ้านอาจไม่เอื้อต่อการเรียนออนไลน์ เช่นไม่มีพื้นที่ มีเสียงดังรบกวนตลอดวัน เป็นต้น


จะเห็นว่าการเรียนออนไลน์ ทำให้เราทุกฝ่ายต้องปรับตัวกันหลายอย่าง และแน่นอนว่ามันย่อมไม่สามารถทดแทนการเรียนในโรงเรียนได้ แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ปัจจุบัน เราต่างไม่มีทางเลือกมากนัก

แล้วเราจะรับมือกับการเรียนออนไลน์ยังไงให้มันไม่ทำร้ายเราจนเกินไป

1. ดูแลจิตใจตนเอง

การยอมรับและเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ไม่เหมือนการเรียนปกติ เป็นขั้นแรกที่จะช่วยให้จัดการสภาพจิตใจตนเองได้ พ่อแม่ควรเตรียมตัวเตรียมใจและจัดการความเครียดของตนเองด้วย เพื่อให้การดูแลลูกราบรื่นขึ้น ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาระหว่างเรียนก็แค่เเก้ไขเท่าที่ทำได้ และเรียนรู้การปล่อยวาง การโทษกันไปมาไม่เกิดประโยชน์อะไร แถมสร้างมลพิษระหว่างเรียนอีกด้วย หากมีปัญหาติดขัดจริงๆ ก็แจ้งคุณครู เชื่อว่าคุณครูที่สอนน่าจะเข้าใจข้อจำกัดของการเรียนรูปแบบนี้เช่นกัน

2. เรียนไม่รู้เรื่องบ้าง ไม่มีสมาธิบ้าง ก็ไม่เป็นไร 

การเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ย่อมไม่เหมือนการเรียนในห้องเรียนที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู การที่ลูกจะเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่องหรือไม่มีสมาธิบ้างเป็นเรื่องธรรมดา การคาดหวังว่าต้องเรียนได้เทียบเท่าการเรียนปกติ จะทำให้เกิดความกดดันและความเครียดทั้งต่อลูกและเรา หากพ่อแม่เป็นห่วงหรือกังวลเรื่องความเข้าใจในบทเรียน อาจจะช่วยลูกทบทวนบทเรียนในแต่ละวัน โดยให้ลูกทำแผนผังความคิด (mind map) เพื่อสรุปบทเรียนคร่าวๆ หรือในเด็กบางคนไม่ถนัดเขียนก็ใช้การเล่า แล้วพ่อแม่ช่วยทำแผนผังความคิด (mind map) แทนก็ได้ เพื่อเก็บไว้ทบทวนก่อนสอบ

3. ไม่เรียนติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง หากิจกรรมอื่นทำคั่นระหว่างคาบเรียน

การนั่งอยู่เฉยๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นอกจากจะส่งผลให้เกิดความเครียด สมาธิสั้น ประสิทธิภาพการเรียนลง ยังมีผลต่อสุขภาพ การไม่ได้ขยับร่างกายทำให้เกิดภาวะอ้วนตามมา และการจ้องจอคอมนานๆ ก็ทำให้สายตาเสียได้ ผู้ใหญ่จึงควรให้เด็กได้มีเวลาพักจากการนั่งเรียนอยู่เฉยๆ ตรงหน้าจอ ไปยืดเส้นสายหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ผ่อนคลายบ้าง

เขียน รินลดา คงพิบูลย์กิจ (นักศึกษาแพทย์)
เรียบเรียง ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
ภาพประกอบ สุภัสสรา คล้อยอรุณ, ณัฏฐธิดา สุวรรณโยธิน

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa