ส้มตำ กับ คำชม
หลายท่านคงสงสัยว่า “ส้มตำ” กับ “คำชม” คำ 2 คำที่ความหมายไม่เกี่ยวข้องกันเลยนั้น ยังจะมีอะไรที่เชื่อมโยงกันได้นะ
ถ้าเปรียบเทียบการกินส้มตำกับการได้รับคำชมหละก็ เชื่อว่าทุกคนคงอยากกินส้มตำที่พึ่งตำเสร็จจากครก มากกว่าส้มตำที่ทิ้งไว้จนเซ็งแล้วใช่มั้ยคะ?
"การได้รับคำชม" ก็เช่นเดียวกัน หากได้รับคำชมทันทีความรู้สึกก็จะฟินเหมือนได้กินส้มตำที่พึ่งเอาออกจากครกนั่นแหละ เพราะกำลังอยากกินอยู่ แต่ในทางกลับกัน หากได้รับคำชมดีเลย์ไป ก็เหมือนกินส้มตำที่เซ็งแล้วนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้เลือกระหว่างการกินส้มตำที่เย็นชืดกับอดกินเลย ก็คงต้องเลือกอย่างแรกจริงมั้ยคะ ถึงรสชาติจะไม่ถูกปากเท่าไหร่แต่อย่างน้อยก็ยังอิ่มท้อง เช่นเดียวกัน คำชมมาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา ถึงจะไม่ดีใจเท่าที่หวังไว้แต่ก็ยังรู้สึกดีกับสิ่งที่ได้ทำลงไป ดังนั้น อย่าพลาดโอกาสดีๆที่จะชมลูกนะคะ
ส่วนคำศัพท์ที่ใช้ชมลูก นอกจากคำทั่วๆ ไป ที่เราอาจจะใช้กันบ่อย เช่น เก่งมาก ดีมาก ยอดเยี่ยม สุดยอด น่ารัก เด็กดี แล้ว ลองเปลี่ยนมาใช้คำที่มีความหมายเจาะจงขึ้น เช่น มีน้ำใจ กล้าหาญ อดทน มองโลกในแง่ดี มีความพยายาม รักสัตว์ รับผิดชอบ เป็นต้น อีกทั้งลองใช้ท่าทางในการแสดงออกร่วมด้วย อย่างการกอด การยิ้ม หรือแม้แต่การยกนิ้วให้
เพราะการใช้คำใหม่ๆ ก็เหมือนกับส้มตำที่มีเครื่องเคียงหลากหลาย ถ้าใช้ศัพท์แบบเดิมตลอด เด็กก็เบื่อ รู้สึกเฉยๆ ไปในที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าชมเล็กน้อยพอเป็นพิธี แล้วพ่วงด้วยคำสอนหรือบ่นยืดยาว เพราะมันจะเหมือนกับกินส้มตำที่มีแต่รสเผ็ดร้อนจนกลบรสชาติอื่นๆ ไปจนหมด แบบนี้ไม่ว่าใครก็อาจจะกินไม่ไหว หรือทนกินได้ไม่นานแล้วพ่ายแพ้ไปในที่สุด
รสชาติแซ่บนัวหรืออร่อยกลมกล่อมนั้น ต้องไม่ใช่อร่อยเพราะใส่ผงชูรสนะ เพราะถึงแม้มันจะอร่อยในระหว่างกิน แต่ว่าในระยะยาวนั้นเกิดผลเสียแน่นอน เหมือนกับการชมหรืออวยจนเกินจริง ก็จะกลายเป็นการเข้าข้างแทนจนทำให้เสียนิสัย
นอกจากนี้ ถ้ากินส้มตำกันหลายคน ดูเหมือนรสชาติจะยิ่งอร่อยขึ้นไปอีก ไม่รู้จริงหรือเปล่า แต่รับประกันเสียงหัวเราะอร่อยล้นแน่นอน :) ดังนั้น เวลาชมลูกรักจึงควรชวนผู้ใหญ่ในบ้านมาชมด้วยกัน ลูกจะยิ่งภูมิใจมากขึ้นและเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้อยากจะทำสิ่งดีๆ มากขึ้น แต่เวลาตำหนิลูกอย่าทำเหมือนกินโต๊ะจีนที่ช่วยกันรุมนะคะ ขอให้คุยกันแบบส่วนตัวแทนจะดีกว่า
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
photo created by jcomp - www.freepik.com