window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

จริงหรือไม่ “เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว”

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ต้องยอมรับก่อนว่า "เด็กไม่ใช่ผ้าขาว" เด็กแต่ละคนเกิดมามีความแตกต่างกัน ไม่เชื่อลองแอบถามคุณพ่อคุณแม่ของท่านดูว่าตอนเด็กๆ ท่านเป็นอย่างไรบ้าง

1. เด็กเลี้ยงง่าย (easy child) เป็นกลุ่มใหญ่มีร้อยละ 40 เป็นเด็กอารมณ์ดี กินอิ่ม นอนหลับเป็นเวลา มองโลกในแง่ดี เข้ากับคนอื่นง่าย พ่อแม่ก็จะรู้สึกสบายหน่อย 

2. เด็กเลี้ยงยาก (difficult child) มีร้อยละ 10-15 เด็กกลุ่มนี้เดี๋ยวเอะอะก็ร้องไห้โยเย ร้องบ่อย กินยาก นอนยาก พ่อแม่ก็อยู่ยากตามไปด้วย ไม่ค่อยได้พัก ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา หลายคนมีเทคนิคแพรวพราว มีสกิลการรับมือเพื่อดูแลลูกได้เก่งทีเดียว  ในขณะที่จำนวนไม่น้อยก็มีปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน

3. เด็กปรับตัวช้า (slow to warm up) มีร้อยละ 10-15 เด็กจะอารมณ์ดี กิน นอนเป็นเวลา แต่จะปรับตัวช้าหน่อย เครื่องสตาร์ทติดยาก ไม่ค่อยกล้าทำอะไร ขี้กังวล หลีกหนีเมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ๆ หรือจดๆจ้องๆ นานกว่าจะเข้าหาวงเพื่อน อารมณ์อ่อนไหวง่าย กลุ่มนี้ต้องการเวลา และกำลังใจมากหน่อย 

4. เด็กมีลักษณะผสม (Mixed type) มีประมาณร้อยละ 35 มีลักษณะรวมกันทั้ง 3 แบบ อย่างที่กล่าวมา

• หากพ่อแม่มีพื้นอารมณ์ร้อน หรือเดิมเป็นเด็กเลี้ยงยากมาก่อน เจอลูกที่เป็นเด็กเลี้ยงยากด้วยกัน สิ่งที่ควรระมัดระวัง คือการใช้อารมณ์ร้อนในการเลี้ยงลูก เพราะจะทำให้ลูกมีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมมากขึ้น หรือเจอลูกที่เป็นเด็กปรับตัวช้า จะรู้สึกไม่ทันใจตัวเอง การกระตุ้นโดยการต่อว่า ตำหนิรุนแรง เพื่อหวังให้ลูกกระตือรือร้น จะยิ่งทำให้ลูกกดดัน เกิดความกลัวมากขึ้น ยิ่งไม่กล้าทำอะไรมากขึ้นไปอีก 

ดังนั้นหากพ่อแม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนอารมณ์ร้อน ควรจัดการอารมณ์ของตัวเอง สื่อสารและตั้งความคาดหวังกับลูกอย่างเหมาะสม จะช่วยให้อุณหภูมิในบ้านผ่อนคลายมากขึ้น

• หากพ่อแม่มีพื้นอารมณ์ปรับตัวช้า กังวลสูง ไม่กล้าตัดสินใจอะไร เจอลูกเป็นเด็กเลี้ยงยาก พฤติกรรมของลูกค่อนข้างเร้าความวิตกกังวลของพ่อแม่ จึงมักจะห้ามลูกหลายสิ่งอย่าง ในขณะที่ลูกก็ทำทุกอย่างที่ไม่อยากให้ทำ พ่อแม่จึงเครียดง่าย ยิ่งเครียดยิ่งพูดซ้ำ พูดบ่อยๆ น้ำเสียงก็เปลี่ยนไป ย้ำคิดย้ำทำ วนไปมา จนลูกบอกว่าชอบบ่นอยู่เรื่อย ทำให้มีปัญหากับลูกได้ง่าย แต่หากเจอลูกเฉื่อยชา ขี้กังวล ไม่กระตือรือร้น แบบเดียวกัน ก็ทำให้ลูกขาดโอกาสพัฒนาตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆในชีวิตเช่นกัน

ดังนั้นหากรู้ว่าตัวเองเป็นคนขี้กังวลสูง ควรเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ตัวเอง สื่อสารอย่างเหมาะสม ให้อิสระลูกมากขึ้น แต่อยู่ในขอบเขตตามวัยที่เหมาะสม แล้วจะเห็นศักยภาพลูกมากขึ้น อาจจะเซอร์ไพรส์ที่ลูกทำอะไรใหม่ๆได้ดีกว่าที่เราคิดไว้ก็ได้ ถึงทำไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวัง แต่อย่างน้อยลูกก็มี "โอกาส" ได้ลองทำ ได้เรียนรู้จากการทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเองบ้าง

และใช่ว่าพ่อแม่ที่มีพื้นอารมณ์ดี จะอารมณ์ดีเสมอไปนะคะ เวลาที่เจอลูกไม่ว่าจะเป็นเด็กแบบไหนที่กำลังอารมณ์ไม่ดีหรือก่อปัญหาก็ของขึ้นเป็น มีอารมณ์หลุดบ้างเหมือนกัน เพียงแต่ด้วยความที่เป็นคนอารมณ์ดี จัดการอารมณ์ตัวเองเป็น จะพอมีสติในการพูดคุยกับลูก ซึ่งช่วยให้สถานการณ์ผ่อนคลายมากขึ้น 

จะเห็นได้ว่า ทุกคนมีแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ดังนั้นความเป็นครอบครัว จำเป็นต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่มีใครเกิดมาพอดีกับใครไปซะทุกอย่าง การที่ลูกไม่สามารถเลือกพ่อแม่ได้ฉันใด พ่อแม่ก็ไม่สามารถเลือกลูกได้ฉันนั้น ความแตกต่างอาจจะเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้และกัน แต่ถ้าเรามีเวลาใส่ใจความรู้สึกกันและกันในทุกๆวัน วันละเล็กน้อยก็ยังดี จะช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้น

สำหรับพ่อแม่แล้ว ลูกคือคนที่ทำให้เราอยากเป็นคนดีขึ้น เพื่อเป็นพ่อแม่ที่ดีพอสำหรับเค้าเสมอ เช่นเดียวกัน ลูกเองก็อยากเป็นคนดีพอ มีคุณค่าพอในสายตาของพ่อแม่ที่เค้ารักที่สุด ดังนั้นค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัวไปด้วยกันเพื่อให้เกิดความพอดีในแบบของบ้านเรามากขึ้นด้วย :)

เขียนและเรียบเรียง ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
ภาพประกอบ พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์
หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa