เช็คลิสต์ก่อนลงโทษลูก
ปัญหา “ลูกดื้อ” เป็นปัญหาที่ทำเอาคุณพ่อคุณแม่หลายท่านรู้สึกกังวลใจไม่น้อย หลายครั้งก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไรดี จึงจบด้วยการลงโทษลูก (เชื่อว่าถ้าไม่เหลืออดจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากลงโทษลูกหรอกใช่มั้ยคะ) การลงโทษก็เป็นเทคนิคการปรับพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่สามารถใช้ได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าควรใช้หลังจากที่พยายามใช้เทคนิคเชิงบวกทุกอย่างแล้วแต่ไม่สำเร็จจริงๆ ก่อนลงโทษทุกครั้งจึงอยากชวนให้ทบทวนตัวเองสักเล็กน้อย ซึ่งทาง Net PAMA รวบรวม “checklist ก่อนจะลงโทษลูก” มาฝากทุกท่านไว้ทั้งหมดแล้ว ลองไปดูกันว่า
ที่ผ่านมาเรา...
• พูดดีกับลูกอย่าสม่ำเสมอ หรือ บ่น ประชด เปรียบเทียบ เป็นประจำ
“ดื้อแบบนี้ยกให้ไปเป็นลูกคนอื่นดีมั้ย...”
“ทําไมแค่นี้ทําไม่ได้ ลูกคนอื่นเขาทําได้ดีกว่านี้อีก...”
คำพูดประชดประชันเหล่านี้มักจะออกมาในเวลาที่เราโมโห บางครั้งคิดว่าอยากจะพูดแรงๆ ให้ลูกเข็ดหลาบ เพื่อที่จะไม่กล้าทำพฤติกรรมแบบเดิมซ้ำอีก แต่อันที่จริงแล้วลูกอาจจะจำฝังใจจนกลายเป็นแผลในใจไปตลอด ซึ่งไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่คงไม่มีใครชอบคำพูดแรงๆ แบบนี้ การพูดเชิงลบเป็นประจำส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ เมื่อเสียสัมพันธภาพแล้วก็ยากที่จะอยากร่วมมือ หรือเชื่อฟังคำตักเตือน ดังนั้น ถ้าหากรู้ตัวว่าพูดเชิงลบบ่อยๆ ลองปรับวิธีการพูดให้เป็นแบบ “ป๊าม้า message” อย่างสม่ำเสมอตามบทเรียน Net PAMA บางทีอาจจะช่วยลดการลงโทษลูกได้บ้างนะคะ
• รับฟังลูกอย่างใส่ใจเพียงพอ หรือ แค่ได้ยินแล้วเตรียมสอน
นอกจากการพูดเชิงบวกตามด้านบนแล้ว การฟังก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการสื่อสาร บางครั้งลูกอาจจะกำลังพยายามจะบอกอารมณ์ความรู้สึกและเหตุผลของตัวเองอยู่ อยากให้ลองตั้งใจรับฟัง โดยไม่ตัดสินสิ่งที่ลูกพูดก่อน เพราะการที่เราเป็นผู้ฟังที่ดีพอจะช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดี เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เมื่อลูกมีอะไรก็กล้าที่จะมาเล่ามาบอกให้ฟัง และเมื่อลูกรู้สึกว่าเรารับฟังแล้ว เขาก็มีแนวโน้มที่อยากจะรับฟังเรามากขึ้นเช่นกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราตั้งใจฟังเพื่อเก็บข้อมูลในการเตรียมบ่นเตรียมสอนแล้ว ลูกก็จะสัมผัสได้ว่าไม่ได้ฟังเขาอย่างใส่ใจในความรู้สึกที่แท้จริง ดังนั้น เมื่อเราพูดหรือสอนลูกก็ไม่อยากรับฟัง เถียง ต่อต้านได้เช่นกัน ส่วนวิธีการรับฟังอย่างใส่ใจในความรู้สึกที่ถูกต้อง สามารถรับชมได้ในทุกบทเรียนของ Net PAMA เลยค่ะ
• จับถูก ชมเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดีทุกครั้ง หรือ ชมแบบมีเงื่อนไข เช่น ดีมาก...แต่... เปรียบเทียบกับอดีต เปรียบเทียบกับคนอื่น
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านมีความลังเลใจที่จะชมลูก เพราะกลัวว่าลูกจะเหลิง แต่ในความจริงแล้วการชมเป็นการสร้างกำลังใจ ในทางจิตวิทยาถือว่าเป็นการให้แรงเสริมทางบวก (positive reinforcement) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีแนวโน้มอยากจะทำพฤติกรรมที่ดีต่อไป ถ้าหากชมแบบมีเงื่อนไขบ่อยๆ พฤติกรรมที่ดีเหล่านั้นก็จะค่อยๆ หายไป เพราะลูกจะรู้สึกว่าทำดีก็ถูกบ่นอีกแล้ว งั้นกลับไปดื้อเหมือนเดิมดีกว่า โดนบ่นเท่ากันไม่เหนื่อยหรือเสียความรู้สึกด้วย ดังนั้น การชมลูกเมื่อมีพฤติกรรมที่ดีทุกครั้งก็อาจจะเป็นการช่วยลดสิ่งที่เรามองว่า “ดื้อ” ได้บ้าง และช่วยส่งเสริมให้เกิดสิ่ง “ดี” ได้ด้วยนะคะ
• มีกติกาที่ตกลงร่วมกันอย่างชัดเจน และเอาจริง หรือ กติกาของเราคนเดียว สุดท้ายใจอ่อนปล่อยให้ต่อรองและติดสินบน
หลายครั้งที่ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง สาเหตุอาจเริ่มตั้งแต่ตอนตั้งกติกาแล้ว ถ้าเป็นกติกาที่คุณพ่อคุณแม่คิด ตั้งและบังคับใช้เอง ลูกจะรู้สึกอึดอัดพาลจะต่อต้าน ไม่อยากจะร่วมมือ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งกติกาคนละครึ่งทางกับเรา ลูกจะให้ความร่วมมือมากขึ้น เมื่อถึงเวลาลูกมีข้ออ้างไม่ทำตามกติกา เราก็สามารถทวงข้อตกลงได้ง่ายขึ้นแต่ที่สำคัญต้องเอาจริง กติกาจึงจะศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่รักษากติกาเองแล้ว สุดท้ายคนที่ปวดหัวกับปัญหาพฤติกรรมคงไม่แคล้วเราเป็นแน่
• ผู้ใหญ่ในบ้านใช้เทคนิคที่กล่าวมาเหมือนกัน และสม่ำเสมอ หรือ ใช้แค่คนใดคนหนึ่ง
ความสม่ำเสมอคือสิ่งสำคัญในการลงมือทำอะไรก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่การปรับพฤติกรรมลูก โดยส่วนมากแล้วเด็กจะเชื่อฟังผู้ใหญ่ที่ให้ความรักเเละเมตตา แต่ว่าเอาจริงในกติกามากกว่าผู้ใหญ่ที่คอยตามใจ หรือเข้มงวดเพียงอย่างเดียว ดังนั้นผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านต้องร่วมมือกันเลี้ยงดู และปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจ ปรับตัวง่ายขึ้น พฤติกรรมที่เรามองว่า “ดื้อ” อาจจะลดลงมากขึ้น
หากทำครบแล้ว...ลูกยังมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจึงค่อยลงโทษตามข้อตกลงด้วยความเมตตา
แต่หากทำไม่ครบ..อยากให้ทบทวนดูก่อนว่าควรปรับข้อไหน แล้วรีบลงมือทำเลยค่ะ